สรุปงานเสวนามุสลิมศึกษาออนไลน์ครั้งที่ 1: “Hajj and COVID-19: โรคระบาดส่งผลต่อกิจการฮัจญ์อย่างไร?”
สรุปงานสัมมนาโดย นายนพดล มรรคาเขต และนางสาวซัลวา สาและ นักศึกษาสหกิจศึกษา
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 19.30 – 21.30 น. ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี และโรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด จัดงานเสวนาวิชาการออนไลน์เรื่อง “Hajj and COVID-19: โรคระบาดส่งผลต่อกิจการฮัจญ์อย่างไร?” โดยมี ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา กล่าวเปิดงานและอธิบายถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานดังกล่าว
ผู้ร่วมเสวนาในวันนั้นประกอบด้วย คุณสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้อำนายการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจญ์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อาจารย์ อิบรอเหม อาดำ คณะกรรมการกลางอิสลามประจำประเทศไทย นพ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ไฟโรส อยู่เป็นสุข ผู้จัดการโรงเรียนสอนศาสนาศาสนูปถัมภ์ คลองเคล็ด
เป้าหมายของงานเสวนาออนไลน์ตามที่อาจารย์ศราวุฒิ อารีย์ ได้อธิบายเอาไว้ คือการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานวิจัยของศูนย์มุสลิมศึกษาในเรื่องการบริหารกิจการฮัจญ์ ตลอดจนเป็นการเปิดเวทีแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ข้อมูลองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อกิจการฮัจญ์ของประเทศไทย

สำหรับภารกิจฮัจญ์นั้น ถือเป็นหลักปฏิบัติอิสลามข้อที่ 5 ที่มีผลบังคับใช้สำหรับคนที่มีความสามารถ โดยในแต่ละปีรัฐบาลประเทศซาอุดิอาระเบียจะกำหนดโควตาให้กับทุกประเทศทั่วโลกที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ตามสัดส่วนประชากรทั้งหมด เพื่อจัดระเบียบด้านความปลอดภัย และความเรียบร้อยให้กับผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในเทศกาลฮัจญ์ของทุกๆปี สำหรับประเทศไทยสัดส่วนผู้ที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ เฉลี่ยตกอยู่ที่ 12,000 คน แต่ถึงแม้ว่าจะมีโควตาที่แน่นอน ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามุสลิมประเทศไทยจะสามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ทุกปี ถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขของกรมการปกครองได้ หรือแม้ในกรณีที่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่มีข้อจำกัดเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น มีการประท้วงที่สนามบิน ซาอุดิอาระเบียไม่เปิดสนามบิน หรือมีโรคระบาดเกิดขึ้น ก็อาจส่งผลไปยังการเดินทางที่จะไปประกอบพิธี
คุณสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้อำนายการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจญ์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การบริหารจัดการฮัจญ์ภายใต้การดูแลของกรมการปกครอง เมื่อปี 2559 ได้มีพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฉบับที่ 3/2559 โอนภารกิจในการส่งเสริมกิจการฮัจญ์จากกรมศาสนามาอยู่กรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2559 เหตุผลสำคัญก็คือทางรัฐบาลมองว่ากรมการปกครองมีหน่วยงานในระดับภูมิภาครวมไปถึงตำบลจนถึงหมู่บ้าน และกรมการปกครอง ดูแลในเรื่องศาสนาอยู่แล้ว จึงเห็นสมควรใช้ประโยชน์จากตรงนี้เพื่อความสะดวก ปลอดภัย และทั่วถึงโดยทางผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยได้วางหลักการดูแลพี่น้องผู้แสวงบุญไว้ 5 ประการด้วยกัน
ประการที่ 1 ต้องดูแลภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด
ประการที่ 2 การทำงานทุกอย่างต้องมีความโปร่งใส ต้องมีการชี้แจง มีการประกาศประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนรับทราบ โดยผ่านกลไกของกรมการปกครองที่อยู่ในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ หมู่บ้านรวมถึงองค์กรทางด้านศาสนาไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด เพื่อให้สิ่งเหล่านี้ไปสร้างให้ประชาชนรับรู้ในทุกๆขั้นตอน ในทุกๆกระบวนการที่กรมการปกครองได้ดำเนินการ
ประการที่ 3 เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำพี่น้องผู้แสวงบุญไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ไม่ว่าจะเป็นองค์กรศาสนา หน่วยงานต่างๆที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ ทางผู้ประกอบการกิจการฮัจญ์ ทางตัวแทนของแซะหรือว่าประชาชนที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ ทุกภาคส่วนจะต้องมีสิทธิ์ในการบริหาร ซึ่งจะมากจะน้อยก็ต้องดูตามบทบาทหน้าที่
ประการที่ 4 พี่น้องประชาชนต้องได้รับความคุ้มค่าและความเป็นธรรม
ประการที่ 5 การซื่อสัตย์สุจริตของพนักงานกรมการปกครองที่ดูแลในการส่งเสริมกิจการฮัจญ์
ในช่วงประมาณ 4 ปีที่ผ่านมาการบริหารของกรมการปกครองจะยึดถือนโยบายเหล่านี้มาตลอด ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฮัจญ์ ทั้งนี้สิ่งที่ทางกรมการปกครองได้พัฒนามาตลอด 4 ปี ในเรื่องของการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีเรื่องที่ค่อนข้างเห็นชัด และมีความโดดเด่นอยู่ 5 เรื่องหลักๆ
เรื่องที่ 1 คือการพัฒนาระบบการลงทะเบียน ส่วนที่ 1) ที่แต่เดิมเป็นการลงทะเบียนผ่านผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว ไม่มีการโยงกับเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ต่อมากรมการปกครองได้พัฒนานำการลงทะเบียนมาผูกโยงกับเลขประชาชน 13 หลัก โดยระบบจะทำการดึงข้อมูลผ่านการคีย์เลข 13 หลัก ซึ่งสามารถเพิ่มข้อมูลอื่นๆนอกเหนือจากข้อมูลที่เราเก็บไว้ในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้ ส่วนที่ 2) มีพี่น้องประชาชนเอง ที่ยังไม่รู้ว่าต้องเดินทางไปกับผู้ประกอบกิจการฮัจญ์รายใด ในส่วนนี้จะสามารถลงทะเบียนที่สำนักทะเบียนอำเภอได้ หลังจากที่ลงทะเบียนเสร็จตรงนี้ทางกรมการปกครองจะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่จะไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ยังไม่มีสังกัดในการเดินทาง และให้ผู้ประกอบการเข้ามาเสนอ บริการให้กับผู้ที่ลงทะเบียนกับทางอำเภอ ส่วนที่ 3) ทางกรมการปกครอง เปิดให้มีการลงทะเบียนผ่าน Application มือถือ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการลงทะเบียน
เรื่องที่ 2 กรมการปกครองได้มีการพัฒนาเรื่องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในการจัดระบบให้มีการเช่าเหมาลำ(จากเดิมเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบินปกติ) โดยให้บุคคลเดินทางจากสนามบินที่ใกล้กับภูมิลำเนาที่ตนเองอาศัยอยู่มากที่สุด
เรื่องที่ 3 มีการแก้ไขกฎหมายลำดับรองบางฉบับโดยยึดหลักนโยบายผู้บังคับบัญชาทั้ง 5 ประการมาใส่ในส่วนกฎหมายที่เป็นลำดับรอง ซึ่งขณะนี้มีการประกาศใช้ไปแล้ว เป็นข้อบังคับของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ 1 ฉบับ จะมีกฎกระทรวงที่แก้ไขใหม่อีก 1 ฉบับ กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และผ่านการพิจารณาความเห็นชอบจากคณะกรรมการไปแล้ว 2 ฉบับ โดยกรมการปกครองได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายอยู่อย่างต่อเนื่อง
เรื่องที่ 4 กรมการปกครองได้พยายามดำเนินในส่วนการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ที่จะไปประจำสำนักงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย 130 ชีวิต โดยได้พยายามกำหนดคุณสมบัติ กำหนดหลักเกณฑ์ พยายามกำชับคนที่จะรับผิดชอบตรงนี้ว่าคุณต้องดูแลผู้แสวงบุญเป็นหลัก
เรื่องที่ 5 ให้ทางผู้ประกอบการเข้ามามีส่วนในการแสดงความคิดเห็นต่างๆเพื่อปรับปรุงการบริการ กรมการปกครองมีการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำมาตรฐานในการให้บริการ
นายแพทย์กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ โรคระบาดมีมาตั้งแต่อดีต ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากจากการรวมกลุ่มของคนที่มีเชื้อชาติต่างกัน โดยปกติเมื่อมีเชื้อโรคเกิดขึ้นมาในพื้นที่พื้นที่หนึ่งคนในพื้นที่นั้นก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคตัวนั้น แต่เมื่อมีการรวมตัวกันของคนต่างพื้นที่ทำให้เชื้อโรคสามารถส่งต่อกันไปได้ ซึ่งเชื้อโรคเมื่อมีการกระจายไปกับคนต่างพื้นที่มันก็จะมีการกลายพันธุ์และพัฒนาไปเรื่อย ๆ คนที่อยู่ต่างพื้นที่ก็จะไม่มีภูมิคุ้มกัน และได้รับเชื้อร้ายในที่สุด
กิจกรรมการรวมตัวที่มีการรวมตัวแบบกระทันหันของคนหลายเชื้อชาติในนะดับโลกมีอยู่ไม่กี่กิจกรรม ซึ่งกิจกรรมการประกอบพิธีฮัจญ์เป็นหนึ่งในนั้นที่มีการรวมตัวในลักษณะกะทันหัน โดยคนที่มาจากหลายเชื้อชาติซึ่งมีความเสี่ยงมากต่อการแพร่ระบาดของโรค
COVID-19 เป็นโรคที่กลายพันธุ์มาจากสัตว์ซึ่งยังไม่ชัดว่ามาจากสัตว์ชนิดไหน โดยการแพร่เชื้อจะเป็นไปในลักษณะทางละออง โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง ดังนั้นการทำฮัจญ์จะต้องเป็นรูปแบบ New Normal คือ
อย่างที่ 1 ผู้จะเดินทางไปประกอบพิธ๊ฮัจญ์ อันดับแรกคือต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน วัคซีนจะมีบทบาทสูงสุดต่อโรคระบาด โดยปกติร่างกายของคนเราจะมีระบบภูมิคุ้มกันอยู่ในเลือด คือเซลล์เม็ดเลือดขาว คอยทำหน้าที่คุ้มกัน และคอยปกป้องตัวเราจากเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะทำงานได้ดีก็ต้องอาศัยวัคซีนในการเพิ่มภูมิคุ้มกัน
อย่างที่ 2 เรื่องการประกอบพิธีฮัจญ์ต้องเป็นแบบ New Normal มีการเว้นระยะห่าง ในทุกๆกิจกรรมต้องใส่หน้ากาก
ในมาตรการ Quarantine คงต้องชั่งกับวัคซีนดู คือ Quarantine กับวัคซีน มันอาจจะอยู่ในลำดับเดียวกัน ถ้าวัคซีนมีผลที่ดีจริงการ Quarantine ก็อาจจะไม่จำเป็น และอาจจะยกเลิกการ Quarantine ไปก็ได้ในคนที่ฉีด แต่ถ้าวัคซีนยัง 50 ต่อ 50 ก็อาจจะต้อง Quarantine อีก 14 วัน
โควตาของการทำฮัจญ์ในอนาคตอาจจะลดลง เหลือแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนค่าใช้จ่ายในการทำฮัจญ์ก็คงจะสูงขึ้น สูงขึ้นทั้งทางซาอุดิอาระเบีย ทางไทยเอง และการเดินทาง หากว่าซาอุดิอาระเบียอนุมัติให้มีการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ในปีนี้ได้ อาจจะต้องมาจัดระเบียบฮุจญาจกันใหม่ โดยเฉพาะมาตรการที่มารองรับการฉีดวัคซีนที่จะต้องจริงจังในการตรวจตรวจสอบ อย่างการลักลอบไม่ฉีด แล้วจะเดินทางไปอาจจะต้องมีบทลงโทษและกฎหมายมารับรอง
อาจารย์อิบรอเหม อาดำ คณะกรรมการกลางอิสลามประจำประเทศไทย การเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปีนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ ปกติทางซาอุดิอาระเบียจะนัดหมายทางประเทศไทยไปทำข้อตกลง อาทิ สัญญาเรื่องที่พัก อาหารการกินหรืออื่นๆ ประเทศซาอุดิอาระเบียในปีที่ผ่านมาเขาได้ดำเนินการเรื่องฮัจญ์ให้เฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศซาอุดิอาระเบียเท่านั้นโดยจะมีการจำกัดอายุตั้งแต่ 18 ปี – 55 ปี ดังนั้นต้องยอมรับว่าฮัจญ์ไม่ได้ถูกระงับแค่ช่วงนี้ เคยถูกระงับมาแล้วเกือบ 40 ครั้ง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากเรื่องของการเมือง โรคระบาด หรืออื่น ๆ
ฉะนั้นอย่างปีที่ผ่านมา ปีนี้ และอาจจะรวมถึงปีหน้า โรคระบาดคงเป็นเรื่องหนึ่งที่อาจจะทำให้คนไม่สามารถเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ได้ โดยประเด็นเหล่านี้องค์กรทั้งทางด้านศาสนา องค์กรทางภาครัฐอย่างกรมการปกครองเอง มีเครือข่ายที่ค่อนข้างจะโยงไปถึงท้องถิ่น โยงไปถึงถึงหมู่บ้าน ที่สามารถกระจายข่าวสารส่งไปถึงผู้ใหญ่บ้านได้ทันที โดยทุกวันนี้กระบวนการของฮัจญ์ได้ดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นสามารถนำข้อมูลเหล่านี้แจ้งให้ประชาชนรับทราบได้ทั่วถึง ทุกวันนี้มีการคุยกันว่าสิ่งไหนที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเราก็ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะถ้าไปเพิ่มค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการเองก็จะไปเพิ่มค่าใช้จ่ายกับผู้ที่จะเดินทาง สิ่งนี้เราต้องทำความเข้าใจกับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ว่าในอนาคตมันจะเป็นข้อท้าทายที่จะเกิดขึ้น
วันนี้กรมการปกครองก็เตรียมตัวในระดับหนึ่ง ถ้าเกิดว่าซาอุดิอาระเบียเปิดให้สามารถเดินทางไปได้ ทางกรมการปกครองเองก็ได้เตรียมตัวแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นแต่ละชุด ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน แต่งตั้งเพื่อเตรียมการให้พร้อมในการประกาศให้พี่น้องที่จะเดินทางได้รับทราบ วันนี้ทุกภาคส่วนเห็นพ้องกันว่าเราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง ถ้าปีนี้ใครไม่สามารถเดินทางไปได้ โดยไม่ได้รับการคัดเลือก การทำความเข้าใจถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องแจ้งรายละเอียดทั้งหมด โดยมีการเปิดโอกาสให้กับผู้ไม่พร้อมได้มีการยกเลิกในการเดินทางได้
คุณสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ ผู้อำนายการกองส่งเสริมองค์กรศาสนาอิสลามและกิจการฮัจญ์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปีก่อนๆทางซาอุดิอาระเบียจะเชิญทุกประเทศไปประชุมเตรียมการของฮัจญ์ ในช่วงเดือนธันวาคม มกราคม กุมภาพันธ์ แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ จากการประเมิณทางซาอุดิอาระเบียไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการที่จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ ในสถานการณ์ที่ไม่มีความชัดเจนนี้จึงมีการออกประกาศจากสำนักเลขาธิการ คอยประเมินแจ้งสถานการณ์ทั้งซาอุดิอาระเบีย แจ้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไปให้พี่น้องที่ลงทะเบียนได้รับทราบ โดยจะมีการแจ้งข่าวสารในหลายๆช่องทาง ช่องทางที่เป็นทางการเป็นการแจ้งข่าวสารผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ รวมไปถึงพื้นที่ กำนันผู้ใหญ่บ้านให้มีการแจ้งไปยังประชาชน
ในอีกทางหนึ่งนั้นจะทำการแจ้งผ่านคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยเพื่อให้แจ้งไปที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพื่อจะดำเนินการแจ้งต่อไปยังอิหม่าม คอเต็บ บิลาล สู่มัสยิดเพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจในสถานการณ์ ผลกระทบ ในส่วนช่องทางที่ไม่เป็นทางการ เราจะมีโซเชียลในการกระจายข่าวสารเหล่านี้ออกไป และอีกทางคือผู้ประกอบการที่มีการทำการประชุมสมาคมผู้ประกอบการและกระจายไปยังผู้แสวงบุญที่ลงทะเบียนไว้ และหากท่านใดที่ต้องการจะยกเลิกท่านก็สามารถดำเนินการมาได้โดยจะมีการกรอกแบบฟอร์มยื่นผ่านทางแซะห์ ผ่านทางผู้ประกอบการเข้ามาถึงกรมการปกครอง แล้วทางกรมการปกครองก็จะทำการประเมินและเสนอความเห็นชอบเพื่อจะคืนเงินค่าประกันเดินทางที่ทางกรมการปกครอง เรียกเก็บให้กับผู้แสวงบุญโดยเร็ว โดยเงื่อนไขการยกเลิกจะเราจะประกาศไปพร้อมกับประกาศของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยมีการกำหนดวันและเวลาในการยกเลิกหากไม่ยกเลิกในวันดังกล่าวจะถือว่าท่านยังประสงค์จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
รับชมเทปบันทึกภาพงานสัมมนาได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=XqPOR2viuB8