สรุปเรื่อง “องค์ประกอบทางศิลปกรรมของชาวตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะมุสลิม” จากหนังสือ Stealing from the Saracens: How Islamic Architecture shaped Europe (2020) โดย Diana Darke

สรุปเรื่อง “องค์ประกอบทางศิลปกรรมของชาวตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะมุสลิม” จากหนังสือ Stealing from the Saracens: How Islamic Architecture shaped Europe (2020) โดย Diana Darke

เขียนโดย วสมน สาณะเสน นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาบันสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี และนักวิชาการอิสระด้านศิลปะอิสลาม

แค่ชื่อหนังสือก็จับใจจนทำให้อยากซื้อทันทีโดยไม่ต้องดูสารบัญ Stealing from the Saracens แปลตรงตัวว่า “ขโมยมาจากหัวขโมย” คำว่า “ขโมย” ในที่นี้หมายถึงชาวตะวันตกและ “หัวขโมย” คือมุสลิม ผู้เขียนเลือกใช้ชื่อนี้เพื่อเสียดสีฝรั่งที่อ้างว่าตนไม่ได้เป็นหนี้อะไรจากอารยธรรมอิสลาม ทั้งที่ศิลปะตะวันตกยุคกลางฟ้องว่ามี DNA ของศิลปะมุสลิมอยู่ชัด ผู้รีวิวได้อ่านแล้วเห็นว่ามีสาระที่น่าสนใจ จึงเห็นควรนำมาเผยแพร่เป็นวิทยาทาน

คำว่า “ซาระเซ็น” (saracen) ปรากฏครั้งแรกในบันทึกของชาวโรมัน คริสต์ศตวรรษที่ 2 ใช้เรียกชนเผ่าที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของภูเขาไซนายที่คอยดักปล้นผู้คนที่เดินทางผ่าน ต่อมาในยุคกลางทหารครูเสดนำคำว่า “ซาระเซ็น” มาใช้เรียกมุสลิมแบบเหมารวมโดยไม่แบ่งเชื้อชาติ ซึ่งก็ยังคงความหมายของหัวขโมยอยู่ เพราะชาวตะวันตกถือว่ามุสลิมยึด (ปล้น) ดินแดนศักดิ์สิทธิ์หรือนครเยรูซาเล็มไปจากชาวคริสต์ ผู้เขียนยังกล่าวว่าอีกสิ่งหนึ่งที่สนับสนุนความคิดที่ว่าองค์ประกอบหลายอย่างของสถาปัตยกรรมตะวันตกหยิบยืมมาจากงานของมุสลิมคือคำกล่าวของเซอร์ คริสโตเฟอร์ เวรน ผู้ออกแบบมหาวิหารเซนต์พอลอันลือชื่อในกรุงลอนดอน (สร้าง ค.ศ. 1697) ที่ว่า “ใช้โครงสร้าง ribbed vault แบบซาระเซ็น”

มหาวิหารเซนต์พอล กรุงลอนดอน

ผู้เขียนดำเนินงานวิจัยในเรื่องนี้ด้วยกรอบแนวคิดที่ว่า “ทุกสิ่งในโลกล้วนสร้างขึ้นทับรอยเดิมหรือพัฒนามาจากสิ่งที่มีมาก่อน….ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อพบเจออะไรที่ดีที่สุดก็จะนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้ จึงไม่มีใครมีสิทธิ์กล่าวว่าสิ่งที่ตนสร้างขึ้นคือสิ่งที่คิดขึ้นเองโดยไม่ได้เลียนแบบใคร เหมือนอย่างที่ชาวฝรั่งเศสอ้างว่ามหาวิหารนอเทรอดามคือผลงานของฝรั่งเศสแต่ผู้เดียว” แนวคิดดังกล่าวเป็นความจริงหากเราย้อนกลับไปดูอารยธรรมต่างๆ ในโลกนี้ที่ต่างก็พัฒนาขึ้นโดยแลกเปลี่ยนวิทยาการจากกันและกันทั้งสิ้น และผู้เขียนก็มิได้เข้าข้างมุสลิมอย่างไร้เหตุผล เพราะศิลปะอิสลามก็มิได้เป็นสิ่งที่มุสลิมสร้างสรรค์ขึ้นเองทั้งหมด แต่พัฒนามาจากศิลปะที่มีอยู่ก่อนนั่นคือศิลปะเฮเลนิสติก ศิลปะไบแซนไทน์ และศิลปะเปอร์เซีย ปรากฏชัดในรูปทรงและลายประดับของวิหารโดมแห่งศิลา (The Dome of The Rock) และมัสยิดกลางแห่งกรุงดามัสกัส (Great Mosque of Damascus/The Umayyad Mosque)

วิหารโดมแห่งศิลา มัสยิดกลางแห่งกรุงดามัสกัส และวังของฮิชาม: ต้นตอของกอทิก

วิหารโดมแห่งศิลา กรุงเยรูซาเล็ม

วิหารโดมแห่งศิลาที่เมืองเยรูซาเล็ม ประเทศอิสราเอล สร้างเมื่อ ค.ศ. 687 ในสมัยของอับดุลมาลิกแห่งราชวงศ์อูมัยยะฮ์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมอิสลามในยุคแรก อาคารหลังนี้จึงมีร่องรอยของศิลปะไบแซนไทน์ที่เคยเจริญอยู่ก่อนในพื้นที่นี้อันได้แก่โดม ผังอาคารทรงแปดเหลี่ยม และงานโมเสก แต่มีองค์ประกอบหนึ่งที่ไม่ได้นำมาจากไบแซนไทน์นั่นคือช่องโค้งแบบ trefoil ที่มีลักษณะเป็นช่องโค้งหลายหยัก (ยังหาคำภาษาไทยมาเทียบเคียงไม่ได้ จึงขอใช้ทับศัพท์ว่า trefoil arch) ช่องโค้งนี้จะปรากฏในสถาปัตยกรรมกอทิกในอีก 500 ปีต่อมา

มัสยิดกลางแห่งดามัสกัส ประเทศซีเรีย

ส่วนมัสยิดกลางแห่งกรุงดามัสกัส ประเทศซีเรีย สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 706 ในสมัยชองอัลวะลีด ช่างที่สร้างอาคารหลังนี้โดยมากเป็นชนพื้นเมืองที่ชำนาญงานแบบไบแซนไทน์ กลิ่นอายแบบโรมันตะวันออกสะท้อนที่หน้าจั่ว, การเรียงข่องโค้งด้วยหินสลับสี (ablaq), ช่องโค้งแบบสามช่องที่เป็นสัญลักษณ์ของพระตรีเอกภาพ, งานโมเสก ฯลฯ อนึ่ง มัสยิดกลางแห่งกรุงดามัสกัสเป็นที่ที่เห็นการผสานวัฒนธรรมระหว่างคริสต์และอิสลามที่ชัดมาก ศาสนสถานแห่งนี้เดิมเคยเป็นทั้งโบสถ์และมัสยิดโดยคริสตชนกับมุสลิมแบ่งพื้นที่กันใช้ ใช้ประตูทางเข้าเดียวกัน เมื่อเข้าไปในอาคารก็แยกไปปฏิบัติศาสนกิจในพื้นที่ของตน หอคอยที่เห็นในปัจจุบันเดิมก็คือหอระฆังของโบสถ์ เป็นเหตุให้หออะซาน (minaret-หอประกาศเวลาละหมาด) ของสถาปัตยกรรมอูมัยยะฮ์มีผังทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสเช่นเดียวกับหอระฆังของชาวคริสต์ ผู้คนเรียกหออะซานต้นนี้ว่า Minaret of Jesus (หออะซานของอีซาหรือเยซู) เพราะเชื่อว่าในวันสิ้นโลกท่านจะลงมายังหออะซานต้นนี้

ส่วนวังของฮิชาม ในเขตเวสแบงก์ ปาเลสไตน์ สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์อูมัยยะฮ์เช่นกัน ช่องหน้าต่างทรงหกเหลี่ยมและเศษกระจกสีที่ขุดพบในพระราชวังแห่งนี้ก็อาจเป็นต้นเค้าของงานกระจกสีและหน้าต่าง rose window ของสถาปัตยกรรมกอทิก

หน้าต่างในวังของฮิชามที่อาจเป็นต้นแบบของ rose window

สงครามครูเสด: ฟันเฟืองแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

สงครามครูเสดที่กินเวลาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11-13 เป็นเหตุที่ทำให้ชนจากต่างดินแดน ต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา อย่างชาวคริสต์และมุสลิมได้รู้จักกันและกันผ่านการสู้รบและการชื่นชมวิทยาการของอีกฝ่าย เมื่อนักรบครูเสดเดินทางกลับมาตุภูมิก็นำเอาสิ่งที่ตนเองประทับใจจากเมืองแขกกลับมาใช้ในบ้านเมืองของตน มุสลิมเองก็นำองค์ความรู้จากชาวตะวันตกไปไม่ต่างกัน

เส้นทางแห่งการแพร่กระจาย

จากหลักฐานที่พบทำให้คาดได้ว่าศิลปะมุสลิมแพร่เข้าสู่ยุโรปผ่าน 2 ดินแดน-สเปนและอิตาลี เป็นหลัก

1. สเปน หลังจากที่ราชวงศ์อูมัยยะฮ์ในซีเรียล่มสลายลงเมื่อ ค.ศ. 750 เจ้าชายอับดุลเราะฮ์มานลี้ภัยมาสถาปนาอาณาจักรอิสลามขึ้นใหม่ที่เมืองคอร์โดบา (Cordoba) ทางใต้ของสเปน มัสยิดกลางแห่งเมืองคอร์โดบาถูกสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 912 การก่อช่องโค้งด้วยหินสลับสี, trefoil arch และจิตรกรรมโมเสกภายในมัสยิดกลางแห่งคอร์โดบาเป็นเทคนิคที่สืบทอดมาจากงานช่างในถิ่นฐานเดิมของราชวงศ์อูมัยยะฮ์ในซีเรีย นวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นที่นี่คือการใช้โครงสร้าง ribbed vault รับน้ำหนักโดม ribbed vault นี้ก็เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของอาคารแบบกอทิก

ribbed vault และด้านล่างตกแต่งด้วย trefoil arch ที่ใต้โดมของมัสยิดกลางแห่งคอร์โดบา ประเทศสเปน

2. อิตาลี ร่องรอยของศิลปะมุสลิมในอิตาลีพบครั้งแรกที่เมืองอะมาลฟี่ (Amalfi) เมืองท่าทางใต้ของประเทศ เพราะโบสถ์ในเมืองนี้เป็นโบสถ์ที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปที่พบการใช้ช่องโค้งยอดแหลม อีกทั้งอะมาลฟี่ยังติดต่อค้าขายกับไคโร บันทึกของโบสถ์ระบุว่าเมื่อนักบวชจากเมืองมอนเตคาสสิโน (Monte Cassino) เดินทางมาถึงอะมาลฟี่ ได้พบช่องโค้งยอดแหลมของมหาวิหารประจำเมืองก็นำเอากลับไปใช้กับอารามในเมืองของตน หลังจากนั้นนักบวชผู้ทรงอิทธิพลในฝรั่งเศสเดินทางมาที่มอนเตคาสสิโน พบช่องโค้งยอดแหลม (ที่ก๊อปปี้มาจากอะมาลฟี่) ก็ชอบใจ นำกลับไปใช้กับโบสถ์ต่างๆ ที่สร้างขึ้นตามเส้นทางแสวงบุญจากฝรั่งเศสสู่สเปน โบสถ์และวังที่ปาเลอร์โม (Palermo) และซิซิลี (Sicily) ก็มีกลิ่นอายของศิลปะราชวงศ์ฟาติมียะฮ์ในอียิปต์อยู่ไม่น้อย

มหาวิหารแห่งอะมาลฟี่ ประเทศอิตาลี

7 สุนทรียะแห่งอิสลามที่ถูกขโมยกลับไปยุโรป

1. ช่องโค้งยอดแหลม

ช่องโค้งยอดแหลมถูกนำไปใช้มากที่สุด รูปทรงในระยะแรกเป็นแบบงานในเอเชียกลาง อิหร่าน และอินเดีย (แบบช่องโค้งของ Taj Mahal) อารามเก่าแก่ที่เมืองอะมาลฟี่ ประเทศอิตาลี ก็ใช้ช่องโค้งทรงนี้ ช่องโค้งยอดแหลมกลายเป็นหนึ่งในหัวใจของสถาปัตยกรรมกอทิกแต่ถูกปรับรูปทรงให้แหลมสูง และเพราะช่องโค้งยอดแหลมนี้เองที่กระตุ้นให้เกิดการทำช่องประตูและหอคอยแหลมสูงเสียดฟ้า ผู้รีวิวหนังสือขอแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าโดมทรงหัวหอมและช่องโค้งที่ตวัดที่ปลายยอดคล้ายทรงหัวหอมของสถาปัตยกรรมเวนิเชียนกอทิก (เช่น มหาวิหารซานมาร์โก เมืองเวนิส) ก็อาจนำแรงบันดาลใจมาจากรูปทรงของช่องโค้งยอดแหลมของมุสลิมเช่นกัน และหากเราเห็นตรงกับผู้เขียนก็ย่อมแปลว่าข้อสันนิษฐานที่ว่าช่องโค้งยอดแหลมในสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนปลายเป็นอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมอินโดอิหร่านนั้นเป็นความจริง หาได้รับมาจากสถาปัตยกรรมกอทิกของฝรั่งเศสไม่

มหาวิหารซานมาร์โก เวนิส ประเทศอิตาลี

 2. Trefoil Arch

Trefoil arch หรือช่องโค้งหลายหยักเป็นเครื่องตกแต่งที่พบบ่อยในสถาปัตยกรรมเวนิเชียนกอทิก รับมาจากงานของมุสลิมดังปรากฏการใช้ช่องโค้งทรงนี้ครั้งแรกที่วิหารโดมแห่งศิลาในนครเยรูซาเล็ม

งานแกะสลักแบบศิลปะมุสลิมที่ Castle la Cuba ซิซิลี ประเทศอิตาลี

3. Ribbed Vault

เป็นการก่อช่องโค้งให้สันของโครงสร้างขัดสานกันด้านบนเพื่อเสริมความแข็งแรง ชาวตะวันตกน่าจะรับมาจากมุสลิมเพราะเทคนิคนี้พบเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักโดมของมัสยิดกลางแห่งเมืองคอร์โดบา  

ribbed vault และช่องโค้งยอดแหลมภายในมหาวิหารนอเทรอดาม

4. กระจกสี

ดังที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ว่ากระจกสีมีมาก่อนศิลปะกอทิกเพราะมีการค้นพบเศษกระจกสีภายในวังของฮิชามที่ปาเลสไตน์ ซีเรียในสมัยนั้นก็เป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องแก้วที่มีคุณภาพ และฝรั่งก็คงรับเทคนิคการผลิตแก้วและกระจกสีไปจากแขก เพราะมีบันทึกว่านักรบครูเสดขนเอาวัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องแก้วจากเยรูซาเล็มกลับไปเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งก็นำไปผลิตเป็นกระจกสีสวยงามในโบสถ์

rose window ตกแต่งด้วยกระจกสีภายในมหาวิหารนอเทรอดาม

5. การตกแต่งอันรุ่มรวย

เอกลักษณ์หนึ่งของสถาปัตยกรรมกอทิกคือการตกแต่งอาคารทั่วทุกพื้นผิวด้วยประติมากรรมตั้งแต่นูนต่ำไปจนถึงลอยตัว สอดแซมด้วยลายฉลุที่แสดงถึงความสามารถและแรงศรัทธาของช่าง การใช้ลวดลายเต็มพื้นที่แบบที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์นิยามว่า “รังเกียจพื้นที่ว่างเปล่า” และลายฉลุอันละเอียดอ่อนเป็นจริตของช่างมุสลิม ดังประจักษ์ได้จากงานแกะสลักหินของพวกเซลจุกเติร์กที่ร่วมสมัยกัน หากถอดรูปปั้นนักบุญต่างๆ ออกไป โบสถ์กอทิกในฝรั่งเศสก็ดูไม่ต่างจากมัสยิดในอียิปต์หรืออนาโตเลียเลย

การตกแต่งอันรุ่มรวยที่ผิวอาคารของมหาวิหารนอเทรอดาม

6. สัญลักษณ์รูปดอกลิลลี่ หรือเฟลอเดอลีส์ (fleu de lis)

สัญลักษณ์รูปดอกลิลลี่ หรือเฟลอเดอลีส์ในตราราชวงศ์ของฝรั่งมีอยู่ก่อนแล้วในอารยธรรมอิสลาม ดังปรากฏเป็นลายประดับบนหมวกเกราะของนูรุดดีน ชาวเติร์กที่เป็นเจ้าเมืองซีเรีย บุคคลนี้มีบทบาทสำคัญในสงครามครูเสดครั้งที่ 2 เอกสารของชาวตะวันตกยังเรียกรูปดอกลิลลี่นี้ว่า “Saracenic heraldry” (ตราประจำตระกูลแบบซาราเซ็น) ก่อนจะถูกพัฒนารูปแบบและเรียกว่าเฟลอเดอลีส์ในเวลาต่อมา

ตรารูปดอกลิลลี่ (เฟลอ เดอ ลีส์) บนธงประจำราชวงศ์ของฝรั่งเศส

7. รูปทรงของ The Dome of The Rock

เมื่อนักรบครูเสดมาถึงเยรูซาเล็ม ได้เห็นวิหารโดมแห่งศิลา ไม่รู้ (หรือแสร้งทำเป็นไม่รู้) ว่าเป็นศาสนสถานของมุสลิม แต่นับเอาว่าเป็นวิหารของโซโลมอน (Temple of Solomon) ที่กษัตริย์ดาวิดสร้างขึ้นเพื่อถวายแก่พระเจ้า แผนที่ของนครเยรูซาเล็มที่ทำขึ้นในยุคกลางก็มีภาพวิหารโดมแห่งศิลาที่ใต้ภาพเขียนกำกับว่าเป็นวิหารของโซโลมอน เมื่อทหารครูเสดเดินทางกลับไปได้ทำแบบของวิหารโดมแห่งศิลาไปสร้างโบสถ์หลายแห่ง โดยเข้าใจว่าเป็นการจำลองแบบมาจากวิหารของโซโลมอนในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เห็นได้จารูปแบบทางสถาปัตยกรรมของ Temple Church ที่กรุงลอนดอน และ Round Church ที่เมืองเคมบริดจ์ เป็นต้น 

มหาวิหารนอเทรอดาม ปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนถูกเพลิงไหม้

ยังมีประเด็นที่น่าสนใจอีกมาก ถ้าอยากรู้ลึกรู้จริงขอเชิญซื้อหนังสือ Stealing from the Saracens: How Islamic Architecture shaped Europe (2020) โดย Diana Darke มาอ่าน รับรองไม่ผิดหวัง

ผู้เขียนหนังสือ: Diana Darke (เกิดปี 1956) เป็นนักวิจัยด้านตะวันออกกลางศึกษา มีผลงานวิจัยจำนวนมากด้านศิลปวัฒนธรรมในซีเรีย อาหรับ และตุรกี

ผู้รีวิวหนังสือ: วสมน สาณะเสน นักศึกษาปริญญาเอก สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ สถาบันสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี และนักวิชาการอิสระด้านศิลปะอิสลาม

รายการรูปภาพจาก wikipedia และ khanacademy