อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ
เขียนโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อุดมการณ์ “ชาตินิยมอาหรับ” (Arab Nationalism) ถือเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนการเมืองของโลกอาหรับนับตั้งแต่ยุคอาณานิคมในตะวันออกกลางจนถึงปัจจุบัน ชาวอาหรับจำนวนไม่น้อย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่อยู่ในเมือง) มีความรู้สึกสำนึกในความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่เรียกว่า “ชาติอาหรับ” (Arab Nation: al Ummah al-Arabiyya) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งอย่างเป็นทางการมากขึ้นว่า “อัล-เกาม์มียะห์ อัล-อะรอบียะห์” (al-Qawmmiyya al- Arabiyya)
อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับวางเป้าหมายให้ชาติอาหรับที่มีอยู่ทั้งหมด (แม้ในความเป็นจริงจะถูกแบ่งออกเป็นรัฐ-ชาติต่างๆ ไปแล้วก็ตาม) รวมตัวกันโดยมีอำนาจอธิปไตยทางการเมืองเป็นหนึ่งเดียว
สิ่งที่ผูกมัดให้ชาติอาหรับเข้ามารวมตัวกันคือ การที่พวกเขามีประวัติศาสตร์ ศาสนา (อิสลาม) ภาษา (อาหรับ) และวัฒนธรรมเดียวกัน
แนวคิดการสร้างเอกภาพในหมู่อาหรับโดยแก่นแท้แล้วมีเป้าหมายอย่างนี้ครับ
1. เพื่อปลดปล่อยดินแดนอาหรับทุกตารางนิ้วจากการครอบงำของต่างชาติ
2. เพื่อทำงานร่วมกันอันจะก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งทางการทหารและการเมืองในหมู่รัฐอาหรับต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมของอาหรับ
3. เพื่อขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม อันจะเป็นการปูทางไปสู่สังคมอาหรับที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากยิ่งขึ้น
ความเป็นมาของแนวคิดชาตินิยมอาหรับเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมก็ตอนที่อาณาจักรออตโตมันอันเกรียงไกรได้ล่มสลายลง ส่งผลให้โลกมุสลิมขาดอำนาจที่เป็นศูนย์กลาง และทำให้ความรู้สึกความเป็น “ประชาชาติเดียวกัน” เสื่อมคลายลง เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อมุสลิมอาหรับอย่างลึกซึ้ง
ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคมในโลกอาหรับก็ยิ่งทำให้เกิดปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น อันเกิดจากความท้าทายของโลกยุคใหม่ โดยเฉพาะการขยายอิทธิพลอำนาจของยุโรปตะวันตก
สภาพการณ์อย่างนี้จึงทำให้นักชาตินิยมมองหาปรัชญาการเมืองที่จะสนองตอบความมุ่งมาดปราถนาของพวกเขา สุดท้ายพวกอาหรับก็พบว่าแหล่งที่มาหลักของแรงบันดาลใจดังกล่าวก็คือ “แนวคิดชาตินิยมอาหรับ”
แม้แต่พวกอนุรักษ์นิยมเองยังได้รับอิทธิพลของแนวคิดนี้ไปด้วย ดังจะเห็นได้ว่าขบวนการต่าง ๆ หลากหลายที่แฝงแนวคิดชาตินิยม การฟื้นฟูอิสลาม และลัทธิมาร์กซ์ เกิดขึ้นมามากมายในช่วงนี้ รวมทั้งขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ซึ่งพยายามเสนอแนวทางแก้ปัญหาของอาหรับโดยเน้นอุดมการณ์การฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalism) และการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่แนวคิดการรวมอิสลาม (Pan-Islam) มากกว่าการจงรักภักดีแค่เผ่าพันธุ์อาหรับเท่านั้น
ขบวนการชาตินิยมอาหรับปฏิเสธแนวคิดภูมิภาคนิยม (Regionalism) ที่อ้างความชอบธรรมในนามของการสร้างเอกภาพแห่งชาติหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และปฏิเสธพวกที่มีความรู้สึกนึกคิดแบบการรวมอิสลาม แต่พวกเขาเลือกที่จะสนับสนุนแนวคิดชาตินิยมการรวมอาหรับแบบโลกวิสัย (secular Pan-Arab Nationalism)
งานเขียนต่าง ๆ ของปัญญาชนคนกลุ่มนี้ทำให้อุดมการณ์การผูกมัดชาติอาหรับให้เข้ามารวมกันโดยอาศัยปัจจัยด้านวัฒนธรรมเป็นแกนนำ ยังปรากฏให้เห็นอยู่จนถึงปัจจุบัน
ตัวอย่างปัญญาชนที่เป็นมันสมองของกลุ่มชาตินิยมอาหรับที่สำคัญคือนักคิดนักเขียนอย่าง ซาตี อัล-ฮุสรี (Sati al-Husri)
ในช่วงเวลานั้น มีพลังมากมายที่เกิดขึ้นมาเพื่อท้าทายจักรวรรดินิยมตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซงกิจการของตะวันออกกลางโดยตรง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีปัญญาชนมากมายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะวิทยาการและประสบการณ์ทางการเมืองของตะวันตก อีกทั้งพวกเขายังชื่นชมระบบรัฐชาติสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ
ปัญญาชนเหล่านี้ประกอบไปด้วยชาวอียิปต์ ตูนีเซีย ซีเรีย และเลบานอน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสได้เรียนในยุโรปหรือสถาบันการศึกษาของยุโรป-อเมริกาที่มาตั้งอยู่ในโลกอาหรับ
คนเหล่านี้กลายเป็นนักคิดสมัยใหม่นิยมที่มีความเชี่ยวชาญและมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของอาหรับที่กว้างไกล แตกต่างไปจากพวกนักการเมืองและข้าราชการรุ่นเก่า พวกเขาได้รับการฝึกอบรม (ภายใต้การสนับสนุนของชนชั้นทางการเมืองรุ่นใหม่) ให้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดระบบทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสถาปนาโครงสร้างของรัฐสมัยใหม่ขึ้น ปัญญาชนอาหรับเหล่านี้ที่สำคัญคือ ตะห์ตาวี ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหาของเขาในอียิปต์ อะห์มัด เบย์ (Ahmed Bey) และ ค้อยรุดดีน (Khayr al-Din) แห่งตูนีเซีย ยาซิกี บุชตานี (Yaziki Bustani) ศอลาฮุดดีน อัล-เบย์ตาร์ (Salauddin Al-Beytar) และ ไมเคิล อัฟลาค (Michel Aflaq) แห่งซีเรีย ปัญญาชนกลุ่มนี้ ตลอดจนผู้ที่มีแนวคิดเดียวกัน ได้เรียกร้องให้มีการจัดตั้งระบบการเมืองแบบใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้หลักพื้นฐานทางศาสนา
ไมเคิล อัฟลาค และศอลาฮุดดีน อัล-เบย์ตาร์ เป็นปัญญาชนที่วางรากฐานอุดมการณ์บา’อัท (Ba’th) พัฒนาจนก่อตั้งเป็นพรรคการเมืองของซีเรียในปี ค.ศ. 1944
ในช่วงที่เขาเป็นนักศึกษาในฝรั่งเศส อัฟลาคได้รับอิทธิพลจากแนวคิดมาร์ซิสม์ ซึ่งมีผลอย่างมากต่ออุดมการณ์และพรรคของเขาที่ใช้ชื่อว่า “พรรคสังคมนิยมอาหรับบา’อัท” (Resurrection) ซึ่งสนับสนุนแนวคิดเอกภาพอาหรับ
พรรคนี้กลายเป็นที่นิยมชมชอบทั้งในซีเรียและอิรัก ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากเหตุผล 3 ประการหลักด้วยกันคือ
1. เป็นเพราะหลักการปฏิวัติของอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับที่ถูกมองว่ามีความสมบูรณ์พร้อม
2. เป็นอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนอาหรับที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเจ้าหน้าที่ทหาร
3. เป็นพรรคเดียวที่ขึ้นไปสู่อำนาจได้ ทั้งในซีเรียและอิรัก
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ปัญหาปาเลสไตน์และการก่อกำเนิดรัฐอิสราเอลที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1948 ได้นำไปสู่การก่อตัวของอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับสุดขั่ว ซึ่งเข้ามาแทนที่อุดมการณ์ชาตินิยมแนวเสรีที่แพร่หลายอยู่ในโลกอาหรับขณะนั้น
ชาตินิยมแนวเสรีเป็นอุดมการณ์ที่อาหรับรับมาจากปรัชญาการเมืองและสังคมของตะวันตกที่เชื่อในแนวคิดเสรีนิยม แตกต่างจากอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับสุดขั่วที่เน้นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากรากฐานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายที่พวกเขาปรารถนาในเรื่องของอิสรภาพและความเป็นเอกภาพ
พวกเขาเชื่อว่าอิสรภาพจะบรรลุผลได้ก็ต่อเมื่อหลุดพ้นจากอิทธิพลของจักรวรรดินิยม และเอกภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อชาติอาหรับสามารถรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นเท่านั้น
นอกจากนี้ แนวคิดสังคมนิยม (Socialism) ก็เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยถกเถียงกันในโลกอาหรับ แต่นักชาตินิยมอาหรับไม่ค่อยให้ความสนใจแนวคิดนี้มากนัก ทั้งนี้สาเหตุใหญ่อาจเป็นเพราะพวกเขายึดถือหลักการสหภาพอาหรับ (Arab Union) เป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
ด้วยเหตุนี้เองที่นักคิดอาหรับบา’อัทจึงเริ่มพยายามผสานแนวคิดที่แตกต่างทั้งสองเข้าด้วยกัน โดยได้เสนอว่า สหภาพอาหรับจะบรรลุผลไม่ได้จนกว่ามันจะตั้งอยู่บนฐานอุดมการณ์สังคมนิยม
รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นผู้นำอุดมการณ์ชาตินิยมของอียิปต์ภายใต้การนำของ กะม้าล อับดุล อัล-นัซเซอร์ เป็นประเด็นที่มีการศึกษาอย่างละเอียดมากมาย ชาตินิยมของนัซเซอร์เป็นอุดมการณ์ที่ได้รับความนิยมในโลกอาหรับขณะนั้นมากพอ ๆ กับของพรรดบา’อัท
สถานีวิทยุที่เป็นสรรพเสียงของโลกอาหรับที่ออกอากาศจากกรุงไคโรทำให้เกิด “พลังการเมือง” ของผู้คนที่เป็นอาหรับนับตั้งแต่มวลชนที่อยู่ในอ่าวเปอร์เซียไปจนถึงฝั่งทะเลเอตแลนติก ขบวนการนี้ยังผลให้เกิดการรวมตัวกันระหว่างอียิปต์กับซีเรียที่หลอมรวมเป็นรัฐเดียวกันเรียกว่า “United Arab Republic” (1961-68)
แต่การทดลองอย่างนี้ (ซึ่งก็เหมือนกับการรวมตัวเป็นสาธารณรัฐของรัฐอื่นๆ ในโลกอาหรับอีกหลายกรณี) ก็มีอายุสั้น อันเกิดจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะความแตกแยกและการแย่งชิงความเป็นผู้นำระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของอาหรับในสงคราม 6 วัน ค.ศ. 1967 ได้ทำลายความฝันของการสร้างเอกภาพในหมู่อาหรับ อุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับถูกบั่นทอนอย่างหนักจากกระแสอุดมการณ์ใหม่ ทั้งกระแสชาตินิยมปาเลสไตน์หรือกระแสรักชาติท้องถิ่น (a local patriotism) ตลอดจนกระแสอิสลามการเมือง (Political Islam) ที่มีพลังมากยิ่งขึ้นนับตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1970 ซึ่งปฏิเสธความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันที่ไม่ได้เกิดจากฐานกรอบของอิสลาม
นอกจากนั้น ปัจจัยที่ขว้างกั้นการรวมตัวกันและเอกภาพของอาหรับในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ก็คือ ความแตกต่างทางเศรษฐกิจและการเมืองในหมู่ประเทศอาหรับเอง
แนวคิดเอกภาพอาหรับเริ่มจืดจางลงไปอีกจากการที่รัฐอาหรับต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร การเข้ามาแทรกแซงมากขึ้นของมหาอำนาจในภูมิภาคนับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 ก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในหมู่รัฐอาหรับ
สงครามอ่าวเปอร์เซียปี ค.ศ. 1990-91 ที่อิรักบุกเข้ายึดคูเวต ยังผลให้ความแตกแยกระหว่างรัฐอาหรับยิ่งถ่างกว้างมากขึ้น กระแสชาตินิยมอาหรับเสื่อมคลายสุด ๆ ก็ตอนที่สหรัฐฯบุกโค่นล้มประธานาธิบดีแห่งอิรักเมื่อปี 2003 และการเกิดอาหรับสปริงเมื่อปี 2010 เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดสะท้อนถึงความล้มเหลวของมุดหมายที่นักชาตินิยมอาหรับได้วางเอาไว้ตั้งแต่ต้น