ลัทธิสังคมนิยมอาหรับ

ลัทธิสังคมนิยมอาหรับ

เขียนโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สังคมนิยมอาหรับ” (Arab Socialism) เป็นคำที่ยังมีความหมายคลุมเครือ ไม่ค่อยมีการอธิบายที่ชัดเจนมากนัก แต่ผมขออนุญาตตีความแบบสรุปอย่างนี้ว่า มันเป็นอุดมการณ์ที่อธิบายเป้าหมายทางสังคมและเศรษฐกิจของลัทธินัซเซอร์ (Nasserism) ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของรัฐอียิปต์ช่วงทศวรรษที่ 1950 ถึง 1960 และของลัทธิบา’อัท (Ba’athism) ของอิรักและซีเรียนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา


Iraqi and Syrian Ba’athist leaders

ในช่วงที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 มติมหาชนอาหรับได้พัฒนาแพร่หลายในหมู่ชนชั้นกลางที่มีการศึกษา ตลอดรวมถึงกลุ่มต่อต้านรัฐส่วนใหญ่ในแต่ละประเทศว่า ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดของประเทศคือ การสร้างเอกภาพภายในชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐคือหัวจักรสำคัญที่จะนำไปสู่เป้าหมายอย่างนั้น

หลังการปฏิวัติครั้งต่าง ๆ (โค่นล้มระบอบราชาธิปไตย) ที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1950 และ 1960 แนวคิดสังคมนิยมอาหรับจึงกลายเป็น“วาทกรรมทางการเมือง” ของผู้นำรัฐในรุ่นต่อ ๆ มา

สังคมนิยมในตะวันออกกลางนับเป็นส่วนที่ขยายมาจากอุดมการณ์ชาตินิยม มีเป้าหมายที่จะเสริมสร้างอำนาจของรัฐสมัยใหม่ โดยมีแนวคิดที่จะสร้างสังคมแห่งการมีส่วนร่วม เป้าหมายของสังคมนิยมอาหรับคือ การสร้างจิตสำนึกทางสังคม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งอุทิศตนให้สังคมมากกว่าคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือความจงรักภักดีต่อปัจเจกบุคคล

ขณะเดียวกัน สังคมนิยมอาหรับก็พยายามกระตุ้นให้มวลชนทำตามเป้าหมายของอุดมการณ์อย่างที่ว่า โดยนำจริยธรรมทางสังคมที่หยั่งรากอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

จริง ๆ แล้ว สังคมนิยมในตะวันออกกลางมีอยู่ 2 ลักษณะครับ ลักษณะแรกคือการปฏิเสธระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของตะวันตก ปฏิเสธการครอบงำเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลและการแบ่งแยกชนชั้น อีกลักษณะหนึ่งคือสังคมนิยมที่ยึดหลักความเสมอภาคของมนุษย์ (egalitarian) โดยมุ่งขจัดความแตกต่างในเรื่องสถานะและความเหลี่ยมล้ำ อันเป็นการวางรากฐานให้เกิดการบูรณาการทางสังคม ซึ่งจำเป็นต่อการอยู่รอดของรัฐสมัยใหม่

สังคมนิยมอาหรับปฏิเสธการต่อสู้แย่งชิงระหว่างชนชั้น และประณามระบอบการปกครองก่อนหน้าว่าถูกครอบงำโดยระบบศักดินา ทุนนิยม และการเป็น “หุ่นเชิด” ของตะวันตก คนที่นิยมแนวคิดนี้พยายามส่งเสริมความเป็นเอกภาพ และประณามฝ่ายค้าน (โดยไม่คำนึงถึงว่าฝ่ายค้านนั้นจะนำโดยพวกคอมมิวนิสต์ หรือประชาชนพลเรือนที่ไม่พอใจ) ว่าเป็นพวกบ่อนทำลายและหวังจะโค่นล้มอำนาจรัฐ

สังคมนิยมอาหรับ ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากชนชั้นปกครองที่เป็นปัญญาชน ผู้ซึ่งมีหน้าที่ (อย่างที่นัซเซอร์ได้พูดเอาไว้) “สร้างโครงสร้างอันทรงพลังสำหรับมาตุภูมิของพวกเขาเอง นำประเทศไปสู่เป้าหมายปลายทางที่เฉพาะเจาะจง และให้ได้มาซึ่งความความหวังและความปราถนาของประชาชน”

สำหรับความแตกต่างระหว่างสังคมนิยมอาหรับกับลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) นัซเซอร์เองได้ตั้งข้อสังเกตในแถลงการณ์ ณ กรุงไคโร เมื่อปี ค.ศ. 1962 ว่า

“ข้าพเจ้ามักพูดอยู่เสมอว่า สังคมนิยมของเรามีความเหมาะสมต่อสภาพการณ์ของเรา เราไม่ได้ลอกเลียนแบบการทดลองทางสังคมของโลกอื่น ๆ เราศึกษาพวกมันโดยปราศจากอคติหรือความคลั่งชาติ (chauvinism) แต่มันมีความแตกต่างพื้นฐานบางประการระหว่างสังคมนิยมแบบของเรากับสังคมนิยมแบบของมาร์กซ์และเลนิน

ลัทธิมาร์กซ์และเลนินไม่ยอมรับศาสนา แต่เรายอมรับการมีอยู่ของพระเจ้าและเชื่อในศาสนา มาร์กซ์และเลนินสอนถึงการเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการฝ่ายขวาไปสู่เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งอย่างไรเสียก็เป็นเผด็จการของชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งอยู่ดี ในทางตรงข้าม เราไม่เชื่อว่าความเป็นเผด็จการจะต้องส่งผ่านจากชนชั้นหนึ่งไปยังอีกชนชั้นหนึ่ง เพราะนั่นจะก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง พวกเรากำลังเปลี่ยนรัฐของเผด็จการ “กระฎุมพี” ฝ่ายขวาให้ไปสู่หนึ่งในความเป็นประชาธิปไตยของผู้คนทั้งหมด

มาร์กซ์และเลนินเสนอแนะให้กำจัดชนชั้นที่แสวงหาประโยชน์ แต่เราแก้ปัญหาโดยปราศจากการนองเลือด เราเปิดโอกาสให้คนในชนชั้นดังกล่าวได้มีชีวิตที่เหมาะสมดีงามและมีเกียติยศศักดิ์ศรี มาร์กซ์และเลนินไม่เชื่อในการถือกรรมสิทธิ์ของภาคเอกชน แต่เราแยกระหว่างการถือครองเอกสิทธิ์ของภาคเอกชนที่กดขี่ขูดรีดกับการถือครองเอกสิทธิ์ของภาคเอกชนที่ไม่กดขี่ขูดรีด พวกเราต่อต้านเฉพาะประเภทแรก แต่ให้การส่งเสริมประเภทหลัง

ท้ายที่สุด มาร์กซ์และเลนินส่งเสริมให้มีการโอนกรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินทำการเกษตรมาเป็นของรัฐ แต่สังคมนิยมของเราไม่ใช่ เราเชื่อในการถือครองพื้นที่ทำการเกษตรโดยภาคเอกชนภายใต้กรอบของระบบสหกรณ์”

สังคมนิยมอาหรับจากกรอบแนวคิดของนัซเซอร์ข้างต้นจึงจัดอยู่ในประเภทที่พิเศษ การใช้คำว่า “สังคมนิยม” ในความหมายสากลจึงไม่ค่อยตรงมากนักกับคำว่าสังคมนิยมอาหรับ

เนื่องจากสังคมนิยมของโลกอาหรับอธิบายถึงเป้าหมายทางสังคมของการเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย (Modernization) เป็นสำคัญ

สังคมนิยมในโลกอาหรับมิได้มีแค่แนวคิดเดียว แต่มันมีอยู่หลากหลาย อียิปต์สนับสนุนสังคมนิยมแบบนัซเซอร์ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็น “สังคมนิยมอาหรับ” ส่วนซีเรียก็เผยแพร่สังคมนิยมแนวบา’อัท กลุ่มก้อนทางการเมืองในเลบานอนส่งเสริมแนวคิดสังคมนิยมแบบก้าวหน้า ขณะที่สังคมนิยมตามแนวทางอิสลามและมาร์กซ์ก็มีให้เห็นในกลุ่มคนเล็ก ๆ ทั่วทั้งตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายที่เป็นสากล มากกว่าที่จะมองแค่พรมแดนประเทศของตนเอง

แม้ว่าแนวคิดสังคมนิยมอาหรับจะได้รับการตอบรับอย่างดีในช่วงสั้น ๆ ในอิรัก และได้รับความนิยมในหมู่ปัญญาชนทั้งในจอร์แดนและเลบานอน อีกทั้งนักชาตินิยมอาหรับยังสนับสนุนส่งเสริมแนวคิดสังคมนิยมตามแนวทางของนัซเซอร์ที่เน้นย้ำเรื่องการสร้างเอกภาพอาหรับ ซึ่งสามารถบรรลุความสำเร็จในหลาย ๆ ประเทศ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จชั่วคราวที่ไม่จีรังยั่งยืน

ในบรรดาสำนักคิดแนวสังคมนิยมอาหรับที่มีอยู่มากมายหลากหลาย มีเพียงพรรคสังคมนิยมบา’อัทที่มีหลักการชัดเจน กล่าวคือ มีทัศนะเดียวกันกับลัทธิมาร์กซ์ในเรื่องชนชั้นทางสังคม อาศัยพรรคการเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปฏิวัติ ยอมรับแนวทางโลกวิสัย และวาดแผนโครงสร้างการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน

นักปรัชญาของบา’อัทอย่าง ไมเคิล อัฟลาค ศอและห์ บิตาร์ (Salah Betar) และนูรุดดีน อะตารี (Nuruddin Atari) เชื่อว่า อุดมการณ์ของพวกเขาเป็นต้นฉบับ ซึ่งจะตอบสนองต่อลักษณะทางจิตวิญญาณและสังคมของอาหรับ แถลงการณ์ดั้งเดิมครั้งแรกของหลักการบา’อัทถูกรวบรวมไว้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาก่อตั้งของพรรคบา’อัท เมื่อวันที่ 17 เมษายน 1947

โครงการของพรรคตั้งอยู่บนหลักการ 3 อย่างคือ

1. เอกภาพ

2. อิสรภาพ

3. สังคมนิยม

สังคมนิยมตามอุดมการณ์ของพรรคบา’อัทถูกอธิบายว่า เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของชาตินิยมอาหรับ เนื่องจากมันเป็นระบบความคิดที่ทำให้ประชาชนคนอาหรับเพิ่มการผลิต สร้างศีลธรรมจรรยา และเสริมความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องในหมู่สมาชิกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยหลักการแล้ว พรรคบา’อัทเชื่อในการแบ่งปันความมั่งคั่งให้เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะการถือกรรมสิทธ์ของรัฐเหนืออุตสาหกรรมใหญ่ ๆ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภค จำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินของภาคเอกชนบนพื้นฐานความสามารถของเจ้าของที่จะใช้ประโยชน์จากที่ดินของเขาอย่างเต็มที่ โดยปราศจากการขูดรีดแสวงประโยชน์จากผู้ใช้แรงงาน

โดยแก่นกลางของอุดมการณ์พรรคบา’อัทแล้ว สนับสนุนให้ผู้ใช้แรงงานมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการโรงงาน โดยที่รัฐเป็นผู้ที่จัดสรรส่วนแบ่งผลกำไรที่เกิดขึ้น ตามแนวคิดของอัฟลาค สังคมนิยมของลัทธิบา’อัทจำกัดขอบเขตอยู่ในองค์กรทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายในการแบ่งปันความมั่งคั่งในดินแดนอาหรับ และวางกรอบพื้นฐานทางเศรษฐกิจซึ่งจะประกันให้เกิดความเท่าเทียมและความยุติธรรมทางเศรษฐกิจในหมู่ประชาชน

ส่วนสังคมนิยมแบบนัซเซอร์นั้น ปฏิเสธการต่อสู้แย่งชิงกันระหว่างชนชั้น ให้การยอมรับชนชั้นกระฎุมพีจำนวนไม่มากเป็นเสมือน “ทุนนิยมแห่งชาติ” และพยายามเชื่อมโยงตนเองเข้ากับชนชั้นล่าง ทั้งชาวนาและกรรมกร ผ่านทางสหภาพสังคมนิยม (Socialist Union) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวมตัวกันแบบหลอม ๆ ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของนัซเซอร์เอง

สังคมนิยมอาหรับของนัซเซอร์ปรากฎออกมาเต็มรูปแบบในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งเป็นการขยายผลมาจากการทำรัฐประหารของปี ค.ศ. 1951 แต่พรรคบา’อัทพัฒนาทั้งแนวคิด หลักการ และองค์กรมาพร้อม ๆ กันนับจากช่วงต้นของศตวรรษที่ 1940 หลังจากนั้นถึงจะพยายามแสวงหาอำนาจ

พรรคบา’อัทอ้างว่า นัซเซอร์ลอกเลียนแนวคิดชาตินิยมและสังคมนิยมหลายอย่างของตนเพื่อที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการขึ้นสู่ความเป็นผู้นำของโลกอาหรับ แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าแนวคิดสังคมนิยมทั้งของพรรคบา’อัทหรือของนัซเซอร์ ก็ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้นในสังคมอาหรับยุคใหม่