มัมลุกส์ – ทหารทาสผู้พิชิตมองโกลและนักรบครูเสดในประวัติศาสตร์อิสลาม ตอนที่ 1
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มัมลุกส์ (مملوك Mamluke) เป็นภาษาอาหรับแปลว่า “ถูกเป็นเจ้าของ” (Owned) หรือพวกทาสนั่นเอง เป็นทาสที่แตกต่างจากทาสทั่วไปโดยเป็น ทหารทาส หรือทาสที่นำมาฝึกเป็นทหารหรือเป็นผู้ดูแลทหาร มีสถานะแตกต่างจากทาสทั่วไปตรงที่ถืออาวุธได้ มัมลุกส์มีมาตั้งแต่ยุคก่อนการมาของอิสลามในคริสต์ศตวรรษที่ 7 มีมานานตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมียมีแม้กระทั่งในจีน อินเดียและในสังคมโบราณอื่นๆ ทาสประเภทมัมลุกส์ใช่ว่าจะเป็นชนชาติไหนก็ได้ นายทาสมักเลือกจากเด็กชายชนเผ่าที่มีเกียรติประวัติด้านการรบ ร่างกายกำยำ นำมาฝึกตั้งแต่เด็กเพื่อให้เป็นนักสู้ รู้จักการใช้อาวุธนานาชนิด เชี่ยวชาญการบังคับม้าหรืออูฐ มัมลุกส์ในยุคก่อนอิสลามและยุคอิสลามที่นิยมกันมากเป็นเด็กชายชนเผ่าอาร์เมเนียแถบคอเคซัสใกล้ทะเลสาปแคสเปียน หรือชนเผ่าเติร์กจากคอเคซัส และทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Stepp) ในเอเชียกลาง ชนผิวดำชาติพันธุ์ซูดานจากอัฟริกาตอนเหนือ มัมลุกส์เหล่านี้ตัวใหญ่ กล้าหาญ รบเก่ง เรื่องราวของมัมลุกส์ไม่ค่อยปรากฏให้เป็นที่กล่าวถึงกันนัก จึงขอนำมาเล่าให้พวกเราได้รู้จักกันหน่อย
มัมลุกส์ในประวัติศาสตร์อิสลามเป็นคล้ายหนูที่เข้ามาช่วยราชสีห์ในนิทานอิสปที่เป็นนิทานกรีก ช่วยพลิกฟื้นความล่มจมของโลกอิสลามที่ถูกชนเผ่ามองโกล (Mongols) ที่นำโดยฮูลากูข่านหลานของเจงกิสข่านทำลายราบใน ค.ศ.1258-1259 ทั้งนครแบกแดดและดามัสกัส คร่าชีวิตชาวเมืองเป็นเรือนล้าน กองทัพมัมลุกส์จากอิยิปต์สามารถเอาชนะกองทัพมองโกล ที่รุกคืบอย่างรวดเร็วหมายยึดครองโลกอิสลามโดยเฉพาะอย่างยิ่งนครที่เป็นศูนย์กลางทางความศรัทธาอย่างมะดีนะฮฺและมักกะฮฺให้ได้ มัมลุกส์สามารถเอาชนะกองทัพมองโกลใน ค.ศ.1260 ในการรบที่อัยน์จาลุต (Ayn Jalut) ในแผ่นดินปาเลสไตน์ ค.ศ. 1260 กระทั่งรักษาโลกอิสลามไว้ได้ จากนั้นยังสามารถพิชิตกองทัพยุโรปที่ยกกำลังเข้ารุกรานโลกอาหรับช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 8 ไปจนกระทั่งสิ้นสุดครูเสดครั้งที่ 9 ใน ค.ศ.1272 ได้อีก
ในยุคสมัยของอิสลามหลังการจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซีลลัม ทหารในกองทัพมุสลิมส่วนใหญ่เป็นชนอาหรับ มีจำนวนหนึ่งเป็นมัมลุกส์ที่มาจากหลายชนเผ่า ส่วนใหญ่เป็นชนชาวเติร์กเผ่ากิบชัก (Qipchak Turks) จากเอเชียกลาง ชนกลุ่มนี้เป็นชนเผ่าเร่ร่อนในทุ่งหญ้าสเต็ปป์ (Stepp) ตามหลักหลักปฏิบัติ มัมลุกส์ไม่สามารถส่งต่อทรัพย์สินหรือตำแหน่งให้กับบุตรชายได้ บุตรชายของมัมลุกส์เมื่อไม่ได้สิทธิ์ก็มักปฏิเสธโอกาสที่จะทำหน้าที่มัมลุกส์เช่นเดียวกับบิดา เป็นผลให้ทางกองทัพต้องสรรหามัมลุกส์ใหม่เสมอ มัมลุกส์กลุ่มกิบชักเติร์กที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกลุ่ม บะฮฺรี (Bahri) คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวเติร์กพื้นเมืองทางตอนใต้ของรัสเซียและชาวเติร์กเผ่าบูร์กีจากเทือกเขาคอเคซัส ชนเติร์กเหล่านี้ถือเป็นเติร์กมองโกลไม่ใช่คนอาหรับ ไม่นิยมแต่งงานกับคนอาหรับโดยคงความเป็นชนเผ่าเติร์กมองโกลที่เป็นมุสลิมไว้อย่างเหนียวแน่น อาบูชามา (Abu Shama) นักประวัติศาสตร์อาหรับยุคหลังตั้งข้อสังเกตไว้หลังจากที่มัมลุกส์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพมองโกลในการรบที่อัยน์จาลุตว่าท้ายที่สุดทหารมองโกลจากทุ่งหญ้าสเต็ปป์ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อชนจากทุ่งหญ้าสเต็ปป์ด้วยกันจนได้