ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ ตอนที่ 2

ตะวันออกกลางยุคอาณานิคมและการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่ ตอนที่ 2

ที่มาของระบบดินแดนใต้อาณัติ

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับอาณาเขตดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันกับหลายฝ่าย ถึงแม้ว่าทุกข้อตกลงจะมีจุดร่วมเหมือนกันคือการแบ่งแยกดินแดนภายในอาณาจักรออตโตมันเดิม ทว่าแต่ละชาติต่างไม่ลงรอยกันในเรื่องของรูปแบบของการปกครองพื้นที่ดังกล่าว ดังจะเห็นได้จากกรณีของการตัดสินเรื่องดินแดนในปาเลสไตน์ว่าจะให้ฝ่ายใดครอบครอง

หากดูตามสนธิสัญญาที่ลงนามโดย เซอร์เฮนรี่ แม็กมาฮอน (Sir. Henry McMahon) ข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษ มีเนื้อใหญ่ใจความระบุว่า อังกฤษจะให้เอกราชแก่ชาวอาหรับในดินแดนหลายส่วน ซึ่งรวมถึงปาเลสไตน์ หากชาวอาหรับช่วยอังกฤษทำสงครามรบกับเยอรมัน

ในอีกด้านหนึ่ง ลอร์ด อาร์เธอร์ เจมส์ บัลโฟร์ (Lord Arthur James Balfour) รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษในสมัยนั้น กลับลงนามใน “คำประกาศบัลโฟร์” แห่งปี 1917 มอบดินแดนปาเลสไตน์ให้เป็นที่พักพิงถาวรของชาวยิว

แต่ในข้อตกลงไซคส์ – พิโกต์ (Sykes – Picot Agreement) อังกฤษและฝรั่งเศสกลับทำข้อตกลงลับระหว่างกันว่าจะให้ดินแดนปาเลสไตน์เป็น “ดินแดนสากล” (international zone)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าก่อนที่จะเกิดการจัดตั้งรัฐอิสราเอล ดินแดนปาเลสไตน์ได้เป็นประเด็นที่ชาติมหาอำนาจถกเถียงกันในเรื่องของกรรมสิทธิ์ครอบครองดินแดน โดยที่เสียงส่วนใหญ่ของชาวอาหรับไม่ได้รับการเหลียวแล


แรงสนับสนุนสิทธิในการปกครองตนเอง

ในขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสต้องการรักษาอำนาจอิทธิพลทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วยการรักษาดินแดนอาณานิคมของตน แต่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1917 กลับสนับสนุนให้ดินแดนอาณานิคมมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ตามหลักการสิบสี่ข้อของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายวูดโรล์ วิลสัน (Woodrow Wilson’s Fourteen Points)


การจัดตั้งระบบอาณัติ

แนวคิดที่ขัดแย้งกันของบรรดาชาติมหาอำนาจได้คลี่คลายลงหลังการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ในปี ค.ศ. 1919 ซึ่งรัฐบาลต่าง ๆ ตกลงกันบริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาต เรียกว่า “ดินแดนใต้อาณัติ” (mandate) ซึ่งได้รับการรับรองจากมาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ (The Covenant of the League of Nations) โดยมีคณะกรรมการจัดการดินแดนใต้อาณัติ (The Permanent Mandates Commission) เป็นผู้ดูแล


การประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference) ปี ค.ศ. 1919

สนธิสัญญาแซฟร์ (Treaty of Sèvres) กำหนดให้อังกฤษได้รับมอบดินแดนปาเลสไตน์และเมโสโปเตเมียในอาณัติ ส่วนฝรั่งเศสได้รับมอบดินแดนซีเรีย (ซึ่งรวมเลบานอนด้วย) ตามมาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติและมติในที่ประชุมซาน รีโม (San Remo Conference) ในปี ค.ศ. 1920

กล่าวได้ว่า มาตรา 22 (Article 22) ของกติกาสันนิบาตชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการจัดตั้งระบบรัฐสมัยใหม่ในตะวันออกกลาง เนื่องจากก่อให้เกิดระบบดินแดนใต้อาณัติที่ตอบสนองความต้องการของอังกฤษและฝรั่งเศสในการรักษาผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในดินแดนตะวันออกกลาง

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็ยังสามารถอ้างอิงหลักการ “กำหนดชะตาชีวิตตนเอง” ด้วยการสนับสนุนให้ประชากรภายใต้ดินแดนอาณัติมีความพร้อมและศักยภาพที่จะปกครองตนเองในอนาคตข้างหน้าหากมีความพร้อม

จะเห็นได้ว่า ชาติมหาอำนาจยุโรปมีอำนาจเด็ดขาดในการจัดการกับภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยแบ่งแยกและรวมดินแดนในภูมิภาคภายใต้อาณัติของตน ซึ่งกำหนดโดยสนธิสัญญาที่ชาวอาหรับไม่มีส่วนรู้เห็น และมิได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นหรือความต้องการปกครองตนเอง

ด้วยเหตุนี้ ระบบดินแดนในอาณัติจึงขัดต่อคำแถลงการณ์ 14 ประการของประธานาธิบดีวูดโรล์ วิลสัน คำสัญญาต่างๆ ที่อังกฤษทำไว้กับผู้นำอาหรับจึงไม่ได้รับการตอบสนอง ขณะที่ข้อเรียกร้องของชาวอาหรับก้ไม่ได้รับความสนใจ

ดังนั้น การถ่วงดุลอำนาจของชาติมหาอำนาจยุโรปจึงปิดกั้นโอกาสในการพัฒนาการบริหารจัดการและการปกครองตนเองของชาวอาหรับในตะวันออกกลางภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1


รูปแบบและระบบการปกครองภายใต้อาณัติ

ชาติมหาอำนาจที่ปกครองดินแดนใต้อาณัติส่วนใหญ่จะใช้กลยุทธ์ของ “การแบ่งแยกและปกครอง” (divide-and-rule strategy) ประชากรชาวอาหรับและชนกลุ่มน้อยๆอื่นในดินแดนอาณัติ ไม่ว่าจะเป็นอิรัก ซีเรียหรือเลบานอน แม้ว่ารูปแบบการปกครองเช่นนี้จะสะท้อนความแตกต่างของประชากรในตะวันออกกลาง ในขณะเดียวกันก็ไปตอกย้ำความแตกต่างเพื่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาหรือเชื้อชาติ

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าอังกฤษและฝรั่งเศสจะได้รับสิทธิในการปกครองดินแดนในตะวันออกกลางอย่างเต็มรูปแบบ การบริหารจัดการของแต่ละพื้นที่กลับประสบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ มากมาย เนื่องจากการลุกฮือต่อต้านเจ้าอาณานิคมของผู้นำขบวนการชาตินิยมอาหรับที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดการกำหนดชะตาชีวิตตนเอง (self-determination) ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาวูดโรล์ วิลสัน
รูปแบบการปกครองของระบบอาณัติ จึงไม่เพียงแต่เปลี่ยนระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของดินแดนในตะวันออกกลางอย่างลึกซึ้ง แต่ยังทำให้ชาวอาหรับเคียดแค้นและไม่พอใจอำนาจและอิทธิพลของต่างชาติที่เข้ามารุกรานดินแดนตะวันออกกลางของตน

ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการรุกรานของต่างชาติในรัฐตะวันออกกลางได้กลายเป็นสาเหตุของการจัดตั้งขบวนการต่อต้านมหาอำนาจต่างชาติต่างๆ เช่น ขบวนการชาตินิยม (nationalist movement) และอิสลามนิยม (Islamist movement) ซึ่งแต่ละขบวนการล้วนสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของโลกอาหรับที่มองว่าตนเองถูกครอบงำโดยชาติมหาอำนาจตะวันตก


เมโสโปเตเมียหรืออิรักในอาณัติอังกฤษ (British Mandate of Mesopotamia/ Iraq)

การมอบดินแดนอิรักให้อยู่ภายใต้อาณัติอังกฤษขัดกับคำมั่นสัญญาที่อังกฤษให้ไว้กับ ชารีฟ ฮุสเซน (Sharif Hussein of Mecca) ผู้นำเมืองมักกะฮ์ เรื่องการมอบดินแดนอาหรับที่เคยเป็นของออตโตมันแลกกับการช่วยอังกฤษรบกับฝ่ายเยอรมัน ดินแดนอิรักภายใต้อาณัติอังกฤษจึงถูกต่อต้านอย่างมากจากประชากรชาวอิรัก

กลุ่มผู้พิทักษ์เอกราชอิรัก (The Guardians of Iraqi Independence) ระดมกำลังขึ้นต่อต้านอาณัติอังกฤษครั้งแรกในปี ค.ศ. 1919 ต่อมาชาวอิรักก็ได้ประท้วงใหญ่อีกครั้งซึ่งเรียกกันว่าการปฏิวัติอิรัก ค.ศ. 1920 (The Iraqi Revolt 1920) นำโดยผู้นำทางศาสนาชาวชีอะฮ์จากเมืองนาญัฟ (Najaf) และกัรบาลา (Karbala)

การประท้วงดังกล่าวมีความสำคัญเนื่องจากเป็นความร่วมมือของประชากรมุสลิมชาวอิรักจากทั้งซุนนีย์และชีอะฮ์ต่อต้านผู้ครอบครองต่างชาติครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการชาตินิยมที่มีบทบาทสำคัญทางการเมืองของอาหรับในสมัยต่อมา

ในขณะเดียวกัน การมอบดินแดนซีเรียให้อยู่ภายใต้อาณัติฝรั่งเศส (Mandate of Syria) ในปี ค.ศ. 1920 ก็ทำให้เจ้าชายไฟซอล (Prince Faisal) ซึ่งเป็นลูกชายของชารีฟ ฮุสเซนและเป็นผู้ปกครองดินแดนซีเรียในขณะนั้น ทำสงครามรบกับฝรั่งเศส เมื่อเจ้าชายไฟซอลแพ้สงครามและโดนฝรั่งเศสขับไล่ออกจากดินแดนซีเรีย อังกฤษจึงแก้ไขปัญหานี้ด้วยการแต่งตั้งเจ้าชายไฟซอลให้เป็นกษัตริย์ปกครองอิรักภายใต้อาณัติอังกฤษแทน และแต่งตั้งเจ้าชายอับดุลลอฮ์ (Abdullah I bin al-Hussein) น้องชายของเจ้าชายไฟซอล ให้เป็นกษัตริย์ปกครองทรานส์จอร์แดน (Transjordan) ซึ่งแยกมาจากดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ. 1921

ถึงแม้ว่าอังกฤษจะแก้ไขปัญหาด้วยการล้มเลิกระบบอาณัติ และแต่งตั้งเจ้าชายไฟซอลให้เป็นกษัตริย์ปกครองราชอาณาจักรอิรัก (Kingdom of Iraq) ในปี ค.ศ. 1921 การรวบเอา 3 จังหวัดจากดินแดนในออตโตมัน แล้วก่อตั้งรัฐอิรัก ปกครองโดยระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) โดยมิได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายทางชนชาติและศาสนาของประชากร ทำให้การปกครองดังกล่าวเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น ประชากรภายในอิรักมองกษัตริย์ไฟซอลเป็นเพียงตัวแทนของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ

ความแตกแยกความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาของประชากรในชุมชนต่างๆ จึงยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีของการจัดตั้งกองทัพอิรักที่ล้มเหลวเนื่องจากกลุ่มชาวชีอะฮ์และเคิร์ดไม่พอใจกลุ่มชาวซุนนีย์ที่มีประชากรมากกว่า ความไม่ลงรอยกันของแต่ละกลุ่มศาสนา นิกายและชนชาติภายในอิรักจึงเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการปกครองราชอาณาจักรอิรัก

ในขณะเดียวกัน ชาวเคิร์ด (Kurds) ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางตอนเหนือของอิรักก็ได้เริ่มก่อกบฏต่อต้านการปกครองของอังกฤษเพื่อประกาศอิสรภาพ ในยุคนี้ ปัญหาชาวเคิร์ดเป็นประเด็นปัญหาที่สำคัญที่เริ่มปรากฏให้เห็นหลังการแบ่งแยกดินแดนตะวันออกกลางให้อยู่ภายใต้อาณัติอังกฤษ เนื่องจากชาวเคิร์ดไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชาวอาหรับ

ด้วยเหตุนี้ ความพยายามของมหาอำนาจในการจัดตั้งรัฐอาหรับจึงผลักดันให้ชาวเคิร์ดลุกฮือขึ้นต่อต้านเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเอง