กระแส “อิสลามการเมือง” ในตะวันออกกลาง
เขียนโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นับจากสงครามเย็นสิ้นสุด “อิสลามการเมือง” (Political Islam) หรือ กลุ่มแนวคิดอุดมการณ์การเมืองที่มีฐานราก วิธีการ และเป้าหมายที่ยึดโยงกับหลักคำสอนของอิสลาม ถือเป็น กระแสที่ได้รับความสนใจจากสังคมโลกในฐานะที่เป็นอุดมการณ์การเมืองที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อแนวคิดเสรีนิยมตะวันตก
การเมืองอิสลามพัฒนามาจากขบวนการฟื้นฟูอิสลาม (Islamic Revivalism) ของศตวรรษที่ 19 ซึ่งปรากฏขึ้นในหลายประเทศของตะวันออกกลาง อันมีเป้าหมายฟื้นคืนอิสลามที่บริสุทธิให้แก่สังคมตามครรลองของคัมภีร์อัล-กุรอานและแบบฉบับของศาสนทูตมุฮัมมัด
ในยุคเริ่มต้น ขบวนการฟื้นฟูอิสลามถือเป็นพลังที่คอยต้านทานเจ้าอาณานิคม ต่อมาในยุคสงครามเย็น พวกเขาก็ถูกปราบปรามและทรมานอย่างหนักจากรัฐบาลเผด็จการที่ยึดอุดมการณ์ชาตินิยมอาหรับ (Arab Nationalism) จนทำให้สมาชิกบางคนของขบวนการฟื้นฟูอิสลามหันไปใช้ความรุนแรง อันเป็นที่มาส่วนหนึ่งของกลุ่มแนวคิดสุดโต่ง (Extremism) ที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ
ถึงอย่างนั้น สมาชิกส่วนใหญ่ของขบวนการฟื้นฟูอิสลามก็ยังคงยึดแนวทางสันติ เพียงแต่วิธีการเคลื่อนไหวได้เปลี่ยนไป จากที่เคยเคลื่อนไหวทางสังคมและศาสนาในหมู่คนระดับรากหญ้าเพียงอย่างเดียว ก็เพิ่มวิธีการโดยหันไปใช้ประโยชน์จากเวทีการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นในโลกยุคหลังสงครามเย็น
การที่กลุ่มการเมืองนิยมแนวทางอิสลามได้รับความนิยมจากประชาชนในตะวันออกกลางมากขึ้นก็เนื่องจากการเสนอแนวทางการปฏิรูปสังคมที่อิงหลักศาสนาและการนำเสนอระบอบสังคม-เศรษฐกิจอันมีบริบทสอดรับกับความต้องการของประชาชนที่รู้สึกผิดหวังกับสภาพอันเสื่อมโทรมของสังคมในระบอบเดิมที่ปรากฏอยู่
เช่น ความไม่พอใจต่ออุดมการณ์ทางการเมือง ระบบการปกครอง ระบบชนชั้นทางการเมือง รวมถึงสังคมสมัยใหม่ที่เน้นการพัฒนาบนพื้นฐานของวัตถุนิยมและปัจเจกชนนิยม การกดขี่เอารัดเอาเปรียบ การคอร์รัปชั่นและการบริหารที่ไร้ประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มการเมืองนิยมแนวทางอิสลามเหล่านี้จึงนำเสนอแนวทางใหม่โดยให้ความสำคัญกับสวัสดิการของคนระดับรากหญ้า และพยายามทำให้กลุ่มต่างๆ ที่แตกกันเป็นเสี่ยงๆ เป็นกลุ่มที่ไร้ประสิทธิภาพ เข้ามารวมกันเป็นพลังการเมืองที่เข้มแข็ง จนกลายเป็นทางเลือกใหม่ที่เรียกร้องให้มุสลิมใช้การปกครองในระบอบอิสลาม โดยที่พวกเขามีความเชื่ออย่างหนึ่งที่สำคัญว่าอิสลามเป็นแหล่งที่มาของเอกลักษณ์ ความหมาย ความมีเสรีภาพ ความชอบธรรม การพัฒนา อำนาจและความหวัง โดยย่ออยู่ในคำขวัญว่า “อิสลามคือทางแก้ไข”
ความนิยมใน “อิสลามการเมือง” ยังเกิดจากความก้าวหน้าของโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญด้านวัตถุเป็นหลัก ส่วนหนึ่งจึงก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสังคมและศีลธรรม สภาพเช่นนี้ ทำให้มุสลิมโหยหาอดีตที่รุ่งเรืองของอาณาจักรอิสลาม โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 7-13 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพสังคมมีความสมดุลกันระหว่างความเจริญทางด้านวัตถุและศีลธรรม
ฉะนั้น ข้อเสนอของขบวนการอิสลามก็คือการนำสังคมทั้งหมดกลับไปสู่ความรุ่งเรื่องอีกครั้งเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีตผ่านการยึดสายธารศาสนา เชิญชวนให้มุสลิมทั้งหมดหันไปดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนอิสลามที่ครอบคลุมทุกมิติ ขณะเดียวกันก็พยายามปรับตัวให้เท่าทันกับยุคสมัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
แนวคิดที่ว่านี้ได้รับการตอบรับจากโลกมุสลิมอย่างกว้างขวางจนเกิดเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นอิสลาม (Islamization) ขึ้นในสังคมมุสลิมทั่วโลก
ขณะเดียวกันเมื่ออัตลักษณ์ของโลกมุสลิมถูกกระทบและสั่นคลอนท่ามกลางกระแสโลกปัจจุบันที่มักเรียกกันว่า “โลกาภิวัตน์” (Globalization) สังคมมุสลิมจึงเริ่มตระหนักต่อกระแสที่กดดันมากขึ้น และการรับมือต่อกระแสดังกล่าวคือ การหันกลับไปสู่รากฐานเดิมของอิสลาม เพื่อเสริมให้อัตลักษณ์ของพวกเขาเข้มแข็งขึ้น
กระแสความนิยมในการเมืองอิสลามเริ่มเห็นเด่นชัดมาตั้งแต่ช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 จากการที่กลุ่มนิยมแนวทางอิสลามในตะวันออกกลางสามารถขึ้นมามีบทบาททางการเมืองในหลายๆ ประเทศ เช่น ซูดาน อัฟกานิสถาน ตุรกี และอัลจีเรีย เป็นต้น
กรณีของอัลจีเรียเป็นกรณีที่สร้างความเสื่อมเสียให้แก่ระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปี 1992 ฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้เข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของอัลจีเรีย โดยได้ช่วยเหลือทางการเงินและให้ความชอบธรรมต่อการทำรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลจากพรรคนิยมแนวทางอิสลามที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างขาวสะอาด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ขบวนการอิสลามกลุ่มต่างๆ นำมาอ้างสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความอธรรม
ผลงานของกลุ่มฮามาสที่มีชัยเหนือกลุ่มฟาตะห์ในศึกเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปาเลสไตน์เมื่อปี 2006 ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสการเติบโตของ “การเมืองอิสลาม” ในตะวันออกกลาง โดยก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองที่นิยมแนวทางศาสนาของชาวชีอะฮ์หรือพรรคสหพันธมิตรอิรักก็กวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภาอิรัก
ในขณะเดียวกัน ชาวซุนนีย์ในภาคกลางของอิรักก็เลือกพรรค Iraqi Accordance Front ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มกันของพรรคการเมืองฝ่ายซุนนี่ย์ที่มีอุดมการณ์ศาสนาเป็นพื้นฐานหลัก
ส่วนที่เลบานอน กลุ่มฮิซบุลลอฮ์ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองศาสนาของชีอะฮ์ในเลบานอนที่มีความสัมพันธ์กับซีเรียและอิหร่าน ก็ได้รับความนิยมไม่น้อยในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเมื่อกลาง ค.ศ. 2005 โดยสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลผสมในเลบานอนได้สำเร็จ
ในซาอุดีอาระเบีย มีการเลือกตั้งสภาระดับเทศบาลขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 เช่นกัน ซึ่งผลของการเลือกตั้งก็เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์กันไว้ คือกลุ่มที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นกลายเป็นนักการเมืองนิยมแนวทางอิสลามสายสะลาฟีย์
ส่วนการเลือกตั้งรัฐสภาอียิปต์เมื่อปลาย ค.ศ. 2005 ก็ปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นสมาชิกของขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ได้ที่นั่งในสภาไป 88 ที่นั่ง จากทั้งหมด 444 ที่นั่ง ซึ่งสื่ออาหรับรายงานว่า ขบวนการภราดรภาพมุสลิมน่าจะได้ที่นั่งในสภาสูงกว่านี้มาก หากผู้สมัครของขบวนการฯ ไม่ถูกกีดกันเสียก่อน เช่น การถูกห้ามไม่ให้ผู้สมัครของขบวนการฯ ลงแข่งขันเกิน 1 ใน 3 ของจำนวนที่นั่งในรัฐสภาทั้งหมด หรือการห้ามผู้สมัครลงเลือกตั้งในนามของพรรคภราดรภาพมุสลิม เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากที่ผู้นำเผด็จการในตะวันออกกลางหลายประเทศถูกโค่นอำนาจโดยการเคลื่อนไหวของมวลชนคนอาหรับจากเหตุการณ์ “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2011 อำนาจใหม่ที่ขึ้นมาบริหารจัดการหลายประเทศในตะวันออกกลางหลังมีการเลือกตั้ง ก็กลายเป็นกลุ่มนิยมแนวทางอิสลามเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้ตอนหลังจะถูกยึดอำนาจกลับไปในบางประเทศก็ตาม
เมื่อความนิยมในกระแสการเมืองแบบอิสลามเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐในระยะหลังได้ลดโทนเสียงที่จะเปลี่ยนตะวันออกกลางให้เป็นประชาธิปไตยอย่างที่เคยวางแผนเอาไว้ ก่อนหน้านี้
เช่น กรณีของผลการเลือกตั้งในซาอุดีอาระเบีย และอิรัก ซึ่งทั้งสองเป็นประเทศที่มีน้ำมันสำรองมากที่สุดอันดับหนึ่งและสองของโลก ก็ปรากฏว่าได้มีเสียงจากตะวันตกที่แสดงความกังวลและยอมรับว่าหากปล่อยให้กระแส “อิสลามการเมือง” เติบโต โดยไม่มีการฉุดรั้ง อาจทำให้พวกนี้เข้าไปควบคุมทรัพยากรน้ำมันจำนวนมหาศาลในเร็ววัน ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามความมั่นคงด้านพลังงานของตะวันตกอย่างหนักทีเดียว
ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นความจริงอย่างหนึ่งว่า จริงๆ แล้วประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นหรือไม่ในตะวันออกกลางไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร ตราบใดที่ผลประโยชน์ของมหาอำนาจยังคงปลอดภัยดี แต่ปัญหาก็คือ ขณะนี้มันกำลังถูกท้าทายจากกลุ่มการเมืองนิยมแนวทางอิสลามอยู่