วิหารเซนต์โซเฟีย
เขียนโดย อาจารย์ อมร หมัดยูนุ โรงเรียนดอนฉิมพลีพิทยาคม
วิหารเซนต์โซเฟีย มีชื่อเรียกในภาษาละตินว่า “Sancta Sophia” และ “Haghia Sofia” ในภาษากรีก สร้างในสมัยจักรพรรดิจัสติเนียน โดยฝีมือรังสรรค์ของอันเธนิอุสแห่งทรัสลิส และอีซีโดรุสแห่งมีเลตุส ใช้เวลาสร้างเกือบ 6 ปี จึงเสร็จสมบูรณ์เมื่อ ค.ศ. 537 และทำซ้ำอีกครั้งเมื่อ ค.ศ. 563 หลังการซ่อมแซมยอดโดมที่พังลงมาเพราะแผ่นดินไหว
วิหารเซนต์โซเฟียเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง เป็นโบสถ์คาทอลิก มีหลังคาเป็นยอดกลมแบบโม เสาในโบสถ์เป็นหินอ่อน ภายในติดกระจกสี เมื่อเติร์กเข้าครองเมืองได้เปลี่ยนโบสถ์นี่ให้เป็นมัสยิดในปี ค.ศ. 1453 โดยการฉาบปูนทับกำแพงที่ปูด้วยโมเสกเป็นรูปพระเยซูคริสต์และสาวก ภายหลังทางการได้ตกลงให้วิหารเซนต์โซเฟียหรือมัสยิดฮาเกียเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยทุกวันนี้คงบรรยากาศของความเก่าขลังอยู่เต็มเปี่ยม โดยเฉพาะโดมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกซึ่งมีพื้นที่โล่งภายในใหญ่ที่สุดในโลก ก่อสร้างด้วยการใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักของอาคารลงสู่พื้นแทนการใช้เสาค้ำยันทั่วไป นับเป็นเทคนิคการก่อสร้าง ที่ถือว่าล้ำหน้ามากในยุคนั้น (ถือเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฮาเกียโซเฟียได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง)

วิหารเซนต์โซเฟียดำรงสถานะเป็นโบสถ์คริสต์มากว่า 900 ปี ก่อนจะมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1453 เมื่อกรุงคอนสแตนติโนเปิลถูกตีแตก โดยสุลต่านเมห์เมตที่ 2 หรือเมห์เมตผู้พิชิตแห่งอาณาจักรออตโตมัน หลังพระองค์ยึดเมืองหลวงแห่งไบแซนไทน์ได้ ก็ทรงบังคับพระอาชาสีขาวเสด็จไปยังเซนต์โซเฟียเพื่อทำการละหมาดพร้อมทั้งบัญชาให้ปรับเปลี่ยนสถานะของเซนต์โซเฟียจากโบสถ์คริสต์เป็นมัสยิสของชาวมุสลิม โดยให้ฉาบปูนปิดทับภาพโมเสกอันสวยงามอลังการภายในให้หมด เพื่อเป็นไปตามความเชื่อของศาสนาอิสลามที่ห้ามมีรูปเคารพต่างๆ อีกทั้งยังโปรดให้ทำการสร้างหอสวดมนต์เพิ่มเติมอีกในเวลาต่อมา จึงเป็นการปิดฉากยิ่งใหญ่ของโบสถ์คริสต์ไปโดยปริยาย แต่กลับเป็นการเปิดฉากใหม่ของการสร้างมัสยิดในรูปทรงโดมแบบโบสถ์เซนต์โซเฟียขึ้นมาในอาณาจักรออตโตมัน

ภายในวิหารเซนต์โซเฟียมีที่ตั้งบัลลังก์จักรพรรดิที่ถือเป็นศูนย์กลางจักรวาล ในห้องมีเสารักษาโรคอยู่ต้นหนึ่ง ซึ่งกล่าวกันว่าสามารถรักษาโรคไมเกรนของจักรพรรดิจัสติเนียนได้เมื่อแนบพระเศียรลงกับเสา จึงเกิดความเชื่อว่าเสาแต่ละต้นในวิหารสามารถรักษาโรคได้ แต่เมื่อถูกลูบคลำเป็นเวลาหลายศตวรรษ เนื้อเสาก็สึกเว้าเข้าไปจนปัจจุบันต้องนำทองเหลืองมากรุเป็นกรอบ และเรียกรอยเว้านี้ว่า “หลุมศักดิ์สิทธิ์”

ความงดงามของภาพโมเสกที่จักรพรรดิจัสติเนียนและจักรพรรดิองค์ต่อๆ มาทรงนำมาประดับวิหารเซนต์โซเฟีย ถูกพวกมุสลิมทำลายไปหลายภาพ ในช่วง ค.ศ. 729 – 843 ภาพที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเพราะทาน้ำปูนขาวปิดทับเอาไว้อย่างภาพของ พระเยซู จอห์นผู้ล้างบาปและพระแม่มาเรีย รวมถึงภาพจักรพรรดินีโซและพระสวามี คอนสแตนตินที่ 9 โมโนมาคุส ถัดขึ้นไปเป็นภาพอดีตพระสวามี โรมานุส ที่เคยเป็นคนเลี้ยงม้าผู้ล่อลวงจักรพรรดินีโซเพื่อจะยึดอำนาจ แต่กลับสูญเสียทั้งบัลลังก์และชีวิต


ส่วนภาพผู้ใจบุญเป็นภาพของจักรพรรดิคอนสแตนตินและจัสติเนียน ถวายนครอิสตันบูลและวิหารเซนต์โซเฟียบูชาแม่พระ และพระกุมาร ภาพเหล่านี้ถูกพบอีกครั้งเมื่ออาตาเติร์คทำการบูรณะวิหารในทศวรรษ 1930 เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์สำหรับคนรุ่นหลัง

วิหารเซนต์โซเฟียแห่งนี้ได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดสถาปัตยกรรมในยุคนั้น มีแผ่นหินอ่อนคอยดูดซับและสะท้อนแสงเทียน และตะเกียงนับพันดวง ภายในจึงสว่างไสว จนพวกคนเดินเรือเข้าใจผิดว่าเป็นประภาคาร แต่ดวงไฟเหล่านี้ก็อาจเป็นต้นเพลิงที่เผาผลาญวิหารหลังเดิม และบ้านเรือนในละแวกใกล้เคียงในยุคนั้นก็ได้
หมายเหตุ ผมมีโอกาสไปเยือนอยู่หลายครั้ง ครั้งนี้เห็นในภาพนี้ไปเมื่อ 1-4 กรกฎาคม 2556