มัสยิดสุลต่านอาห์เม็ดหรือมัสยิดสีน้ำเงิน
เขียนโดย อาจารย์ อมร หมัดยูนุ โรงเรียนดอนฉิมพลีพิทยาคม

มัสยิดสุลต่านอาห์เม็ด หรือมัสยิดสีน้ำเงิน (Blue Mosque) ถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของเมืองอิสตันบูล สร้างขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1609- 1616 โดยมีแรงบันดาลใจมาจากความพยายามที่จะสร้างมัสยิดที่มีขนาดใหญ่กว่าวิหารเซนต์โซเฟีย (หรือ ‘ฮาเกียโซเฟีย’) เพราะแต่เดิมนั้น วิหารเซนต์โซเฟียได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคกลาง ทำให้สุลต่านแห่งออตโตมันหลายพระองค์ต้องการกสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ให้เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าวิหารเซนต์โซเฟีย แต่ก็ไม่เคยมีใครประสบความสำเร็จ จนมาถึงในสมัยสุลต่านอาห์เมตที่ 1 เมห์เมต อาอา (Mehmet)
สถาปนิกผู้สร้างสรรค์มัสยิดแห่งนี้ต้องการแสดงให้โลกรู้ว่าเขามีความสามารถเหนืออาจารย์และสถาปนิกที่ออกแบบวิหารเซนต์โซเฟีย จึงบรรจงออกแบบจนอลังการ เหตุที่ผู้คนเรียกมัสยิดสุลต่านอาห์เมตที่ 1 (Sultan Ahmet I) ว่า “บลูมอสก์” จนกลายเป็นชื่อจริงไปแล้วนั้น เนื่องมาจากสีของกระเบื้องอิซนิคบนกำแพงชั้นในที่มีสีฟ้าสดใสลายดอกไม้ต่างๆ เช่น กุหลาบ ทิวลิป คาร์เนชั่น ฯลฯ โดยให้ตัวมัสยิดหันหน้าเข้าหาวิหารเซนต์โซเฟีย เป็นการประชันความงามกันอยู่คนละฟากฝั่งของจัตุรัสสุลต่านอาห์เมต อันเป็นสถานที่ซึ่งในฤดูร้อนจะมีงานแสดงแสงสีที่งดงามยามค่ำคืน

แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าดีไซน์ของมัสยิดแห่งนี้มองดูคล้ายวิหารเซนต์โซเฟีย แต่ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผลงานที่น่าประทับใจ เอกลัษณ์ของมัสยิดสีน้ำเงิน โดดเด่นด้วยหอมินาเร็ต (หออะซาน) 6 หอ ซึ่งปกติหออะซานประจำมัสยิดทั่วไปจะมีหนึ่งถึงสองหอและลานด้านหน้าที่ใหญ่ที่สุดในบรรดามัสยิดของออตโตมัน ส่วนการตกแต่งภายในก็ดูยิ่งใหญ่ด้วยหน้าต่างทั้งหมด 260 บาน สลับสล้างด้วยหน้าต่างกระจกสีอันวิจิตรและพื้นที่สำหรับละหมาดขนาดกว้าง ภายในบริเวณมัสยิดมีโรงเรียนสอนศาสนา โรงพยาบาล ที่พักแรมของขบวนคาราวานและโรงครัวต้มน้ำซุป (เรียกว่าคุลลีเย)

ตอนที่เริ่มสร้างมัสยิดสีน้ำเงินนั้น องค์สุลต่านมีกระแสรับสั่งให้สร้างหอสวดมนต์เป็นทองคำ คำว่าทองคำในภาษาตุรกี เรียกว่า “อัลทึ่น” (Altin) สถาปนิกพยายามคิดหาทางออกที่ดีในการปฏิเสธกระแสรับสั่งดังกล่าว เพราะการสร้างหอทองคำต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากและเป็นการไม่สมควร แต่ก็ต้องทำให้สุลต่านอาห์เมตพอพระทัยด้วย ท้ายที่สุดทางออกของสถาปนิกก็คือการสร้างหอสวดมนต์ 6 หอ จนสร้างความพอพระทัยในความฉลาดของสถาปนิก องค์สุลต่านจึงไม่ลงทัณฑ์ในโทษฐานที่สถาปนิกขัดกระแสรับสั่งของพระองค์แต่อย่างใด ทว่าเมื่อสร้างมัสยิดสีฟ้าเสร็จแล้วกลับกลายเป็นว่ามีหอสวดมนต์เท่ากับมัสยิดฮะรอมในนครมักกะฮ์ ซึ่งเป็นการไม่สมควรอีกเช่นกัน จึงต้องเพิ่มหอขึ้นอีกหนึ่งแห่งกลายเป็น 7 หอ

สุลต่านอาห์เมตได้ชื่นชมบลูมอสก์อยู่เพียงปีเดียว ก่อนสิ้นพระชนม์ด้วยวัยเพียง 27 พรรษา สำหรับการเยี่ยมมัสยิดสีน้ำเงินนั้น นักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยียนต้องถอดรองเท้า ช่วงที่อากาศเย็นควรเตรียมถุงเท้าไปด้วย ที่สำคัญคือมัสยิดแห่งนี้อนุญาตให้คนเข้าไปทำละหมาดได้ 24 ชั่วโมง และช่วงกลางคืนจะมีการแสดงแสงสีเสียงด้วย