การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 6 (ตอนจบ)

การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 6 (ตอนจบ)

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตอนที่แล้ว  ได้พูดถึงปัจจัยภายนอกด้านเศรษฐกิจที่ทำให้ออตโตมันเสื่อมคลาย วันนี้เรามาดูปัจจัยภายนอกด้านสังคมกันบ้าง เริ่มจากการที่ประเทศยุโรปต่างๆ ได้อ้างสิทธิพลเมืองภายในอาณาจักรเพื่อเข้าแทรกแซงกิจการภายในของจักรวรรดิออตโตมันในหลายรูปแบบ

ปรากฏว่าในศตวรรษที่ 19 รัฐบาลยุโรปได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดันรัฐบาลและข้าราชการของออตโตมันให้เพิ่มผลประโยชน์ทางการค้าแก่พ่อค้าจากประเทศตนเอง และอ้างสิทธิปกป้องชุมชนศาสนาต่างๆ ที่ตนสนับสนุนภายในอาณาจักร เช่น ฝรั่งเศสอ้างสิทธิปกป้องชาวคริสเตียนมาโรไนต์ (Maronites) ในเลบานอน และรัสเซียอ้างสิทธิที่จะปกป้องคริสต์จักรออร์โธดอกซ์ตะวันออก (Christian Orthodox Church) ส่วนอังกฤษมีความสัมพันธ์พิเศษกับกลุ่มชนชาวยิว ดรูซ และชาวคริสต์โปรเตสแตนท์

เหตุการณ์ที่เป็นตัวอย่างของการเข้าแทรกแซงกิจการภายในของมหาอำนาจชาติยุโรปคือ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังจะเห็นได้ว่าระหว่างปี ค.ศ. 1851-1852 ฝรั่งเศสและรัสเซียต่างกดดันรัฐบาลในอิสตันบูลให้มอบสิทธิพิเศษเหนือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์แก่ชุมชนศาสนาที่ตนสนับสนุน เป็นต้น

การแทรกแซงความสัมพันธ์ระหว่างสุลต่านกับพลเมืองชาวคริสต์ดังกล่าว ก่อให้เกิดการต่อต้านต่อผู้ปกครองมุสลิมและการเคลื่อนไหวตามแนวคิดชาตินิยมที่เริ่มแพร่กระจายจากการปฏิวัติฝรั่งเศสขณะนั้น เช่น ชาวเซอร์บได้ลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลออตโตมันในท้องถิ่นและประกาศจัดตั้งรัฐปกครองตนเองเซอร์เบียขึ้นใน ค.ศ. 1830 และการลุกฮือของชาวกรีซต่อต้านผู้ปกครองท้องถิ่นใน ค.ศ. 1821 จนนำไปสู่การประกาศเอกราชของชาวกรีกในปี ค.ศ. 1833 เป็นต้น

นอกจากนี้ การปฏิรูปทางสังคมให้เป็นแบบยุโรปในช่วงสมัยตันซิมัต (Tanzimat Reforms) ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสมอภาคของประชากรทุกเชื้อชาติและศาสนาในจักรวรรดิออตโตมัน ยังก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาวอาหรับคริสต์และมุสลิม และการเรียกร้องสิทธิของชาวอาหรับที่ไม่พอใจการมอบสิทธิให้กับกลุ่มชนต่างศาสนา

ดังจะเห็นได้จากพระราชกฤษฎีกาเพื่อการปฏิรูปออตโตมัน ค.ศ. 1856 (Ottoman Reform Edict of 1856) ที่ได้มอบสิทธิที่เท่าเทียมกันของกลุ่มชนทุกศาสนาในจักรวรรดิออตโตมันในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การจ้างงาน และการเกณฑ์ทหาร

กฎหมายนี้ได้ทำให้ชาวอาหรับที่เป็นชนส่วนใหญ่ไม่พอใจเรื่องสิทธิพิเศษที่ชาวคริสต์และยิวต่างได้รับ ความขัดแย้งทางนิกายศาสนาที่นำไปผูกติดกับอำนาจทางการเมืองทำให้เกิดสงครามต่างนิกายขึ้นเป็นครั้งแรกระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในอเล็ปโป และระหว่างชาวดรูซและชาวคริสเตียนมาโรไนต์ ในหุบเขาเลบานอนในปี ค.ศ. 1841

ด้วยเหตุนี้ การแทรกแซงทางการเมืองของบรรดาชาติยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย จึงทำให้อาณาจักรออตโตมันเริ่มเสื่อมอำนาจลงเพราะไม่สามารถต้านทานสมรรถนะทางทหารและการค้าของมหาอำนาจตะวันตกได้

อาณาจักรออตโตมันกลายเป็นเวทีสงครามเพื่อการแข่งขันแผ่ขยายอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ทำให้ออตโตมันถูกริดรอนเสียดินแดนไปไม่น้อย

โดยสรุปคือ การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สามารถอธิบายได้ด้วยสาเหตุและปัจจัยหลายประการ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ทั้งที่เกิดขึ้นในอาณาจักรเอง และที่ได้รับผลกระทบมาจากความขัดแย้งและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของบรรดามหาอำนาจตะวันตก

แม้อาณาจักรออตโตมันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาให้ดินแดนในอาณาจักรมีสิทธิปกครองตนเอง แต่จักรวรรดิออตโตมันกลับยิ่งอ่อนแอลงเนื่องจากสูญเสียอำนาจส่วนกลางในการปกครองแว่นแคว้นต่างๆ และล้มเหลวในการปราบปรามกบฏที่แข็งข้อ

นอกจากนี้ ความวุ่นวายภายในราชสำนักของสุลต่านเองและความพยายามของสุลต่านออตโตมันที่จะทำให้ดินแดนในปกครองเข้มแข็ง สามารถต้านทานอิทธิพลและแรงกดดันจากชาติมหาอำนาจได้ด้วยการปฏิรูปประเทศตามแบบชาติตะวันตกกลับเปิดโอกาสให้ชาติมหาอำนาจที่ต้องการล่าอาณานิคมเพื่อสะสมความมั่งคั่งทางการค้า เข้าแทรกแซงกิจการภายในของอาณาจักรออตโตมันได้อย่างง่ายดาย

ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปทางสังคมก็ได้ก่อให้เกิดค่านิยมสมัยใหม่อย่างแนวคิดชาตินิยม ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนของออตโตมันเกิดความรู้สึกต้องการประกาศอิสรภาพและจัดตั้งรัฐปกครองตนเอง

บทเรียนจากการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันจึงชี้ให้เห็นว่า การเมืองภายในที่อ่อนแอ การปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่ล้มเหลวตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 18 – 19 ได้ทำให้ผู้ปกครองสูญเสียจุดยืนและทิศทางที่แน่ชัดในการบริหารประเทศในยามวิกฤติ

แรงกดดันจากมหาอำนาจยุโรปที่ต่างต้องการแผ่ขยายอำนาจ สถาปนาอาณานิคม และเพิ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองในแถบเมดิเตอร์เรเนียนและแอฟริกา ได้ทำให้จักรวรรดิออตโตมันยิ่งอ่อนแอและเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ

ผลที่ตามมาจากการตัดสินใจของสุลต่านที่ผิดพลาด ทำให้จักรวรรดิออตโตมันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นจุดจบของจักรวรรดิที่เคยเรืองอำนาจมาหลายศตวรรษอย่างสิ้นเชิง