การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 4

การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 4

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เมื่อตอนที่แล้ว ได้อธิบายขยายความถึงปัจจัยภายในอันส่งผลให้อาณาจักรออตโตมันเสื่อมคลาย คราวนี้ลองมาดูปัจจัยภายนอกกันบ้างครับ

ว่ากันว่า ขณะที่ภายในอาณาจักรออตโตมันกำลังปั่นป่วนเกิดการก่อการจลาจลภายในที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่งอำนาจประเทศยุโรปก็กำลังเพิ่มพูน ยุโรปได้ใช้สถานการณ์ดังกล่าวสร้างความยุ่งยากลำบากให้แก่โลกมุสลิม

การแทรกแซงทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของจักรวรรดินิยมยุโรป ทำให้เห็นว่า ปัจจัยทางการเมืองไม่สามารถแยกออกจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น จุดมุ่งหมายของประเทศยุโรปที่เข้ามาล่าอาณานิคมในจักรวรรดิออตโตมันจึงไม่ได้มีเพียงแค่ทำการค้าแสวงหาความมั่งคั่งเท่านั้น แต่ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์ทางภูมิศาสตร์การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย ซึ่งขอแยกอธิบายเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. ดินแดนในจักรวรรดิออตโตมันได้กลายมาเป็นสนามรบของจักรวรรดิยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ส่งผลให้อาณาจักรออตโตมันอ่อนแอลงมาก การพ่ายแพ้สงครามครั้งแล้วครั้งเล่า สถาบันทางการเมืองที่ไร้ประสิทธิภาพ การปฏิรูปทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ล้มเหลว การก่อขึ้นของขบวนการชาตินิยมในเขตบอลข่าน และการแข่งขันทางการเมืองของบรรดามหาอำนาจยุโรป ทำให้มหาอำนาจยุโรปเริ่มตระหนักถึงความอ่อนแอของจักรวรรดิออตโตมันมากขึ้น และเริ่มตั้งคำถามว่าควรจะดำเนินการอย่างไรกับดินแดนภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออตโตมันหากจักรวรรดิออตโตมันมีอันต้องล่มสลาย

เหตุการณ์นี้รู้จักกันในนาม “Near Eastern Question” คำถามนี้นำไปสู่การแย่งชิงทางยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างมหาอำนาจ เช่น ฝ่ายรัสเซียเห็นว่าตนเองสามารถได้ผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์การเมืองจากการล่มสลายของออตโตมัน หลังจากเอาชนะกองทัพออตโตมันในสงครามรัสเซีย – ตุรกี ในปี ค.ศ. 1768 – 1774 แต่ทางฝ่ายอังกฤษและออสเตรีย – ฮังการีเห็นว่าการแตกสลายของดินแดนนี้จะทำให้ตนเองเป็นฝ่ายเสียเปรียบและเสียดุลอำนาจทางทหารและการเมือง

การแข่งขันทางยุทธศาสตร์การเมืองเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงทำให้ประเทศยุโรปเข้ามามีบทบาทและแผ่ขยายอิทธิพลในจักรวรรดิออตโตมันมากยิ่งขึ้น เช่น รัสเซียทำสงครามขยายดินแดนทางใต้ของออตโตมันเพื่อยึดครองท่าเรือน้ำอุ่นเลียบทะเลดำ (Black Sea) และช่องแคบตุรกี (Turkish Straits) เพื่อทำการค้าในแถบเมดิเตอร์เรเนียน

ในขณะเดียวกัน อังกฤษและฝรั่งเศสก็ทำสงครามเพื่อแย่งชิงดินแดนและอาณานิคมของกันและกันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ดังจะเห็นได้จากสงครามเจ็ดปี (Seven Years War) ระหว่างพันธมิตรของอังกฤษและฝรั่งเศส (ค.ศ. 1756 – 1763) ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสมดุลทางอำนาจต่อผู้เข้าร่วมหลายประเทศ

ชัยชนะของอังกฤษจากสงครามดังกล่าวทำให้สามารถแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วดินแดนแถบแอตแลนติก ส่วนฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้และหมดอำนาจลงในแถบนั้น จำต้องมุ่งแสวงหาแหล่งเมล็ดพันธุ์ ผ้าไหม และตลาดการค้าใหม่ในดินแดนแถบแอฟริกาเหนือ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียนแทน การบุกรุกอียิปต์ของนโปเลียน โบนาปาร์ตในปี ค.ศ. 1798 จึงเกิดขึ้น

จักรวรรดิออตโตมันอ่อนแอลงเรื่อยๆ จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 จักรวรรดิออตโตมันจึงได้รับฉายาว่าเป็น “คนป่วยแห่งยุโรป” (Sick Man of Europe) ฉายาดังกล่าวพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 แห่งรัสเซียเป็นผู้ตั้งขึ้นในเชิงดูหมิ่นเหยียดหยามออตโตมัน ที่ได้เข้าร่วมสงครามไครเมีย (Crimean War) กับอังกฤษและฝรั่งเศส เพื่อต่อต้านรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1854

2. ข้อตกลงลับและสนธิสัญญาแบ่งแยกดินแดนของอาณาจักรออตโตมันระหว่างชาติมหาอำนาจก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้นำไปสู่การล่มสลายของออตโตมัน ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซียตกลงแบ่งแยกดินแดนด้วยข้อตกลงและสนธิสัญญาที่สลับซับซ้อน และใจความของสัญญาไม่ชัดเจน เช่น อังกฤษทำสัญญาลับกับชารีฟ ฮุสเซน ผู้ปกครองมักกะฮ์ (Sharif Hussein of Mecca) ว่าจะช่วยให้ดินแดนอาหรับได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์หากตกลงช่วยกองทัพอังกฤษรบในสงคราม

ในอีกทางหนึ่ง อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำข้อตกลงลับระหว่างกันเพื่อแบ่งดินแดนอาหรับ เรียกว่า ข้อตกลงลับไซส์-ปิโก้ (Sykes-Picot Secret Agreement) ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1916 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่จัดทำโดยเซอร์ มาร์ค ไซส์ (Sir Mark Sykes) นักการทูตชาวอังกฤษ และ ฟร็องซัว จอร์จ ปิโก้ (François Georges-Picot) นักการทูตชาวฝรั่งเศส และมีจักรวรรดิรัสเซียเป็นผู้รับรอง

ข้อตกลงดังกล่าวถือได้ว่าเป็นแบบแผนของการแบ่งแยกดินแดนในอาณาจักรออตโตมันในการประชุมสันติภาพที่ปารีส (Paris Peace Conference 1919) ของประเทศผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในปี ค.ศ. 1919 โดยออตโตมันจำต้องสละอาณานิคมให้รัฐบาลต่าง ๆ บริหารอาณาบริเวณเหล่านี้ในนามของสันนิบาตชาติ เรียกว่าดินแดนใต้อาณัติ (mandate)

มาตรา 22 ของกติกาสันนิบาตชาติถือว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแตกสลายของอาณาจักรออตโตมัน เนื่องจากมาตรานี้กำหนดว่า ดินแดนที่เคยอยู่ในจักรวรรดิออตโตมันมาก่อนถูกจัดให้อยู่ในอาณัติประเภท A ที่ “ต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้ได้รับมอบอาณัติเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะสามารถปกครองตนเองได้” หลังจากนั้นอังกฤษจึงเข้ามารับผิดชอบต่ออาณัติประเทศอิรัก ปาเลสไตน์ และทรานส์จอร์แดน ส่วนฝรั่งเศสรับผิดชอบต่ออาณัติเลบานอนและซีเรีย

3. อิทธิพลของ “หลักการสิบสี่ข้อ” ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา วูดโรล์ วิลสัน (Woodrow Wilson’s Fourteen Points) ที่ใช้เป็นหลักการในการเจรจาสันติภาพของผู้นำประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิตาลี มีส่วนสนับสนุนให้ประเทศในอาณานิคมประกาศเอกราช และมีสิทธิในการปกครองตนเอง (right to self-determination)

หลักการข้อที่ 12 กล่าวว่า ส่วนของตุรกีจากจักรวรรดิออตโตมานเดิม ควรได้รับความช่วยเหลือให้มีเอกราช แต่เชื้อชาติอื่นๆ ซึ่งตอนนี้อยู่ภายใต้การปกครองของตุรกีควรได้รับการรับรองความปลอดภัยในชีวิต และโอกาสพัฒนาปกครองตนเองอย่างเสรี และช่องแคบดาร์ดาแนลส์ควรจะถูกเปิดเป็นเส้นทางเดินเรือเสรีแก่ทุกประเทศ

หลักการนี้อาจมีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้กลุ่มขบวนการชาตินิยมในจักรวรรดิออตโตมันเดิม นำโดย มุสตาฟา เคมาล อตาร์เติร์ก (Mustafa Kemal Ataturk) ให้ลุกขึ้นต่อต้านระบอบเคาะลีฟะฮ์ (caliphate) ที่อยู่ภายใต้อำนาจของฝ่ายสัมพันธมิตร และล้มล้างสนธิสัญญาแซร์ฟ (Treaty of Sevres) ที่แบ่งแยกดินแดนในจักรวรรดิออตโตมันออกเป็นส่วนๆ ตามที่อังกฤษและฝรั่งเศสได้ตกลงกันไว้ในข้อตกลงไซส์-ปิโก้

เป้าหมายหลักของเคมาลคือการสถาปนาความเป็นชาติของตุรกีให้เป็นกองกำลังที่รวมเป็นหนึ่งของประชาชนชาวตุรกี ไม่เหมือนกับอาณาจักรออตโตมานที่แตกต่างและหลากหลายทางเชื้อชาติ เคมาลจัดตั้งรัฐบาลที่อังการา (Ankara) และทำสงครามกอบกู้เอกราชจนประสบชัยชนะและจัดตั้งสาธารณรัฐตุรกี (Republic of Turkey) โดยมีกรุงอังการาเป็นเมืองหลวง ซึ่งได้รับการรับรองในสนธิสัญญาโลซานน์ (Treaty of Lausanne) ของปี ค.ศ. 1923 ในที่สุด