การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 3
บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เมื่อตอนที่แล้วได้นำเสนอสาเหตุทางการเมืองภายในที่ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน วันนี้จึงขอต่อในเรื่องปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมครับ
เรื่องแรกเลยคือการที่จักรวรรดิออตโตมันแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้ออย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ในช่วงศตวรรษที่ 17 ขณะที่ประเทศยุโรปเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อ เขามีมาตรการในการแก้ปัญหาโดยการปฏิรูปสถาบันการเมืองใหม่ อีกทั้งยังพัฒนาเศรษฐกิจโดยการแสวงหาความมั่งคั่งจากการทำการค้ากับดินแดนอื่น ๆ หากแต่จักรวรรดิออตโตมันกลับเลือกใช้มาตรการลดค่าเงินตราเพื่อให้รัฐบาลกลางมีเงินจ่ายกองทหารแจนิสซารีมากขึ้น
ท้ายที่สุดรัฐบาลจึงจำต้องปฏิรูประบบทหารให้ทันสมัย โดยกำจัดระบบเกณฑ์ทหารแจนิสซารีในปี ค.ศ. 1826 เพื่อให้รัฐเข้มแข็งและสามารถต้านทานการท้าทายอำนาจจากจักรวรรดินิยมยุโรปและการแข็งข้อของหัวเมืองอียิปต์และตูนิเซียได้
นอกจากนี้ รัฐบาลกลางอิสตันบูลยังได้สร้างระบบภาษีที่นา (tax farming) และมอบสิทธิให้พ่อค้าและเจ้าของที่ดินสามารถจัดเก็บภาษีได้ด้วยตนเอง
แต่วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้ปกครองท้องถิ่นในจักรวรรดิสามารถสะสมรายได้ ระดมกำลังทหาร จนกระทั่งสามารถท้าทายอำนาจการปกครองของรัฐบาลกลาง ตัวอย่างเช่นเช่นการแข็งข้อต่อออตโตมันของ มูฮัมหมัด อาลี (Muhammad Ali Pasha) ในอียิปต์ และ อาหมัด เบย์ (Ahmad Bey) ในตูนิเซีย
ถึงแม้ว่าการปฏิรูประบบเศรษฐกิจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้รัฐบาลกลางเข้มแข็งและรวมศูนย์อำนาจได้ แต่วิธีการเช่นนี้กลับทำให้รัฐบาลกลางอ่อนแอ เนื่องจากต้องพึ่งพิงเงินทุนจากมหาอำนาจ อันทำให้ต่างชาติ เช่น อังกฤษและฝรั่งเศส สามารถเข้าแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ได้ในเวลาต่อมา
ในอีกด้านหนึ่ง การปฏิรูปประเทศเพื่อรวมศูนย์อำนาจและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ กลับเปิดโอกาสให้ประชาชนเริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มชาตินิยมที่ต้องการปกครองตนเองและเป็นอิสระจากอำนาจจักรวรรดิ
เมื่อสุลต่านแลเห็นปัญหาและภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 สุลต่านจึงเริ่มดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแนวทางทฤษฎีของ “การพัฒนาเพื่อการตั้งรับ” หรือการปรับเปลี่ยนระบบทหาร กฎหมาย เศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้ระบบการปกครองของประเทศเข้มแข็งและสามารถต้านทานอิทธิพลของจักรวรรดิยุโรปอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้
สุลต่านอัลดุล เมญิดที่ 1 ได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาเพื่อการตั้งรับ มาใช้ในการปฏิรูปในสมัย “ตันซิมัต” (Tanzimat ซึ่งแปลว่า “การจัดระเบียบใหม่” ในภาษาตุรกี) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1839 – 1878 ในสมัยนี้ สุลต่านพยายามปรับเปลี่ยนจักรวรรดิตามรูปแบบอังกฤษ เช่น การใช้ระบบการค้าเสรีเพื่อแก้ปัญหาการเงินของรัฐ จุดมุ่งหมายของการปฏิรูปนี้มี 3 ประการคือ
ประการแรก รวบอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางด้วยการล้มเลิกระบบจัดเก็บภาษีที่นาเพื่อกำจัดพ่อค้าคนกลางและสร้างความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้นำและผู้ปกครอง
ประการที่สอง แผ่ขยายอำนาจครอบงำของรัฐบาลกลางต่อชีวิตประชาชนโดยการปฏิรูปการศึกษาและจัดระเบียบกฎหมายใหม่
และประการสุดท้าย จัดตั้งสัญญาประชาคมขึ้นใหม่ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ได้แก่ “Hatt-ı Sherif of Gülhane” ปี ค.ศ. 1839 และ “Islahat Fermani” ในปี ค.ศ. 1856 ซึ่งรับรองความมั่นคง ความปลอดภัยของชีวิต อิสรภาพและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ยังรับรองสิทธิอันเท่าเทียมกันของชุมชนศาสนาต่างๆ เช่น ชุมชนชาวมุสลิม คริสต์ และยิว เป็นต้น
กฎหมายสองฉบับนี้ได้เปลี่ยนสถานะของผู้อยู่ใต้ปกครองชาวออตโตมันให้กลายเป็นพลเมืองภายใต้กฎหมายของอาณาจักรออตโตมัน และก่อให้เกิดความเป็นออตโตมัน หรือ “ออตโตมันนิยม” ขึ้น
การปฏิรูประบบสังคมและเศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันเช่นนี้ ไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและประชาชนภายใต้การปกครองเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นชาติออตโตมัน
แต่สุดท้ายการปฏิรูปประเทศแบบครอบคลุมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อรวมศูนย์อำนาจและสร้างความมั่นคงให้กับประเทศอย่างนี้ กลับผลักดันให้เกิดการรวมตัวของขบวนการชาตินิยม (nationalist movements) ที่ต้องการแยกตัวออกจากจักรวรรดิเพื่อปกครองตนเองในเวลาต่อมา