การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 2

การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 2

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ช่วงศตวรรษที่ 16 ชาติยุโรปเริ่มผงาดขึ้นมาจากการปฏิวัติทางการค้า (Commercial Revolution) ทำให้บางประเทศ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เจริญรุ่งเรือง เกิดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และได้เริ่มสะสมทุนสะสมทรัพยากรอย่างต่อเนื่องเพื่อเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

มีการปรับปรุงการก่อสร้างเรือและการเดินเรือที่ทำให้พ่อค้าชาวยุโรปเดินทางไปค้าขายได้ในหลายมหาสมุทร กระบวนการนี้นำไปสู่การริเริ่มสร้างอาณานิคมทางการค้าตามหัวเมืองใหญ่ ก่อให้เกิดการเพิ่มพูนเงินทุนเพื่อนำไปใช้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแนวใหม่

ขณะที่ยุโรปพัฒนาเติบโตขึ้น แต่อาณาจักรออตโตมันกลับเสื่อมถอยลง เกิดภาวะอดอยากเนื่องจากจำนวนประชากรที่ลดลงจากโรคระบาด และการผลิตที่มิได้นำไปสู่การสะสมทุนที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ หรือเพื่อเพิ่มศักยภาพทางเทคโนโลยีใหม่ๆ

เมื่อจักรวรรดิออตโตมันได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 17 – 18 จักรวรรดิออตโตมันจึงได้เข้าสู่ยุคของความเสื่อมโทรมทั้งจากปัญหาภายในและจากการถูกคุกคามโดยมหาอำนาจยุโรปที่ต้องการแผ่ขยายอาณานิคมเพื่อสะสมความมั่งคั่งทางการค้า

ดังนั้น ปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่สามารถอธิบายการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้ เรามาดูปัจจัยภายในกันก่อนครับ

ยูจีน โรแกน (Eugene Rogan) นักประวัติศาสตร์ตะวันออกกลาง จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Arabs: A History ว่า หลักการบริหารจัดการบ้านเมืองและการเจรจาทางการทูตของอาณาจักรออตโตมันตั้งอยู่บนสมดุลยภาพขององค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ กองทัพที่เข้มแข็ง ความมั่งคั่งของรัฐ ความร่ำรวยของประชากร และกฎหมายที่เที่ยงธรรม

หนังสือ “The Arabs : A History”
เขียนโดย ยูจีน โรแกน
รูปภาพจาก https://www.amazon.com/Arabs-History-Eugene-Rogan/dp/046509421X

ดังนั้น หากข้อหนึ่งข้อใดเกิดข้อผิดพลาด หรือผิดเพี้ยนไป อาณาจักรออตโตมันก็จะประสบความวุ่นวายทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเมื่อนั้น หลักการทั้ง 4 ข้อนี้สามารถนำมาใช้เป็นกรอบวิเคราะห์สาเหตุภายในที่นำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันได้

เริ่มต้นจากปัจจัยทางการเมืองก่อนเลยครับ

ประการแรก คือ การไร้ความสามารถของสุลต่าน 17 พระองค์ที่ทรงครองราชย์ต่อจากสุลต่านสุลัยมานในระหว่างปี ค.ศ. 1566 – ค.ศ. 1789

หลังจากสิ้นสุดยุคการปกครองของสุลต่านสุไลมานที่ 1 ซึ่งเป็นสุลต่านคนที่สิบของอาณาจักรออตโตมัน จักรวรรดิ์ก็เริ่มเข้าสู่ยุคแห่งความเสื่อมอย่างมาก เนื่องจากราชสำนักมีแต่ความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย สุลต่านมัวแต่สนุกสนานอยู่ในฮาเล็ม (Harom) บรรดาผู้ที่อยู่ในราชวังและข้าราชการต่างกดขี่ข่มเหงประชาชน ปล่อยปละละเลยปัญหาทางเศรษฐกิจให้เกิดความเสื่อมโทรม

นอกจากนี้ นโยบายการบริหารอาณาจักรของสุลต่านแต่ละองค์ก็ไม่ต่อเนื่อง การบริหารราชการจึงขาดแผนแม่บท และบริหารตามสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ความอ่อนแอของอาณาจักรออตโตมัน บวกกับกองทัพที่เริ่มอ่อนแอ ทำให้ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มประเทศราชต่างๆ กระด้างกระเดืองแข็งขืนถึงขั้นเรียกความเป็นเอกราช เช่น พวกเซอร์เบีย และกรีก เป็นต้น

ประการที่ 2 คือการแย่งชิงอำนาจในราชสำนัก สุลต่านเบยาซิต ที่ 1 (Bayezid I ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 1932 – 1946) ได้วางแผนจนนำไปสู่การปลงพระชนม์พระอนุชาของพระองค์เองหลังที่ทรงทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระบิดา เพื่อตัดปัญหาการแย่งชิงราชสมบัติ

การกระทำดังกล่าวได้กลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบมาจนถึงรัชสมัยของสุลต่านเมห์มัดที่ 1 ซึ่งขึ้นครองราชย์ในปี ค.ศ. 1605 และโปรดให้เปลี่ยนการสำเร็จโทษมาเป็นการกักบริเวณแทน การกักบริเวณดังกล่าวมีผลอย่างมากต่อสุขภาพจิตเจ้าชายรัชทายาทเนื่องจากสุลต่านหลายพระองค์ทรงมีสุขภาพจิตที่ไม่สมบูรณ์ และไม่สามารถบริหารจัดการบ้านเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประการที่ 3 เป็นสาเหตุมาจากกองทัพแจนิสซารีประจำหัวเมืองต่างๆ ในจักรวรรดิมีอำนาจมากเกินไป ทั้งนี้ กองทัพแจนิสซารี (Janissaries) เป็นกองทหารราบที่จัดตั้งขึ้นในสมัยสุลต่านมูรอตที่ 1 (Murad I) กองทหารนี้คัดเลือกเด็กหนุ่มที่แข็งแรงในจักรวรรดิเพื่อเกณฑ์เป็นทหารในหน่วย โดยต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ตัดขาดจากครอบครัวและอุทิศตนจงรักภักดีต่อสุลต่านเพียงผู้เดียว

ในยุคแรกๆ สุลต่านได้ทำหน้าที่แม่ทัพในสนามรบ ต่อมาในยุคหลังสุลต่านสุลัยมาน ทหารแจนิสซารีกลายเป็นเป็นแม่ทัพเสียเอง ส่วนสุลต่านกลับพำนักอยู่ในราชวังกับคนรับใช้ ด้วยเหตุนี้ ทหารจึงมีความเป็นอิสระและเริ่มแข็งข้อเสมือนไม่ขึ้นกับองค์สุลต่าน สุดท้ายจึงทำให้เกิดความวุ่นวายที่ทำให้อาณาจักรออตโตมันอ่อนแอลงเรื่อยๆ

ประการที่ 4 เกิดจากจักรวรรดิออตโตมันมีอาณาเขตกว้างขวางเกินกว่าที่รัฐบาลกลางจะจัดการบริหารดินแดนและปกครองได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะเขตแดนที่ติดกับอาณาจักรอื่น การบริหารราชการในประเทศที่มีอาณาเขตกว้างขวางเป็นเรื่องยากมากเพราะการปกครองจากส่วนกลางอาจไปไม่ถึงหัวเมืองที่อยู่ห่างไกล ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พระราชอำนาจของสุลต่านจึงลดลงเป็นอย่างมาก ในขณะที่อำนาจของขุนนางภายใต้การนำของอัครมหาเสนาบดีมีมากขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น การฉ้อราษฎร์บังหลวง การเล่นพรรคเล่นพวก ก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในยุคนี้ ตำแหน่งในราชการต่าง ๆ มีการซื้อขายกัน ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง ทำให้ระบบมีแต่บุคคลที่ไม่มีคุณภาพ เห็นแก่ตัว ทำให้การบริหารงานราชการไม่สนองนโยบายของรัฐบาลกลาง ส่งผลให้การเมืองภายในประเทศอ่อนแอ

การปกครองส่วนกลางของอาณาจักรที่ไม่ลงตัว ประกอบกับผู้ปกครองหัวเมืองต่าง ๆ ทะเยอทะยานที่จะขยายดินแดน และทำสงครามกับชาติอื่น ๆ ตลอดเวลา ทำให้อาณาจักรออตโตมันไม่มั่งคง ขาดความสงบ และขาดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม