การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 1
บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักวิชาการด้านตะวันออกกลางยังคงถกเถียงกันไม่จบว่า ยุคสมัยใหม่ของภูมิภาคควรเริ่มต้นนับจากช่วงเวลาใด บางคนบอกว่าต้องนับเริ่มต้นจากการบุกยึดครองอียิปต์ของนโปเลียน โบนาปาร์ตเมื่อปี 1798 แต่บางคนก็เริ่มต้นนับจากการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่ส่วนใหญ่อธิบายว่าน่าจะเริ่มนับตั้งแต่การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 เพราะเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางภูมิศาสตร์การเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ดินแดนที่แยกตัวหรือถูกแบ่งแยกจากจักรวรรดิออตโตมันโดยมหาอำนาจยุโรป ได้กลายเป็นประเทศต่างๆ ของตะวันออกกลางในปัจจุบัน เช่น ตุรกี อียิปต์ ตูนิเซีย จอร์แดน ซีเรีย เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น
ความพ่ายแพ้และล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันที่เคยปกครองดินแดนค่อนโลก จากกรุงเวียนนาถึงกรุงเอเดน จากทะเลแคสเปียนถึงกรุงอัลเจียร์ และจากทะเลดำสู่ทะเลแดง มานานกว่า 400 ปี จึงสร้างความฉงนให้บรรดานักประวัติศาสตร์และนักวิชาการทั้งหลายว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และดินแดนต่างๆที่แตกแยกจากจักรวรรดิได้พัฒนามาสู่ประเทศของตะวันออกกลางในปัจจุบันด้วยวิธีการใด
ผมเลยอยากอธิบายสาเหตุปัจจัยการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมันตั้งแต่ก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เพื่อวิเคราะห์บทเรียนของความเป็นจักรวรรดิในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากยุคสมัยใหม่ช่วงต้น (Early Modern Period) ไปสู่ยุคสมัยใหม่ (Modern Period) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมภายในระบบการปกครองของจักรวรรดิออตโตมัน และอิทธิพลการแทรกแซงจากจักรวรรดิยุโรป เช่น อังกฤษ และฝรั่งเศส
พูดง่าย ๆ ก็คือปัจจัยการล่มสลายของอาณาจักรออตโตมันนั้นเป็นผลมาจากเงื่อนไขภายในและปัจจัยภายนอกครับ
จักรวรรดิออตโตมัน (ค.ศ.1299 – ค.ศ.1923) ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 1453 หลังจากจักรพรรดิเมห์เหม็ดที่ 2 (Mehmet II) เป็นผู้นำในการทำสงคราม ยึดคอนสแตนติโนเปิลได้ และนำไปสู่การล่มสลายของจักรวรรดิไบแซนไทน์ พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงคอนสแตนติโนเปิลใหม่เป็น “อิสตันบูล” (Istanbul)
จักรวรรดิออตโตมันเป็นหนึ่งในโครงสร้างทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่จักรวรรดิโรมันแตกสลาย อาณาจักรออตโตมันมีอาณาเขตที่ครอบคลุมถึง 3 ทวีป ได้แก่ เอเชียตะวันตก แอฟริกาเหนือ และยุโรปตะวันออก ซึ่งขยายไปไกลสุดถึงช่องแคบยิบรอลตาร์ทางตะวันตก นครเวียนนาทางทิศเหนือ ทะเลดำทางทิศตะวันออก และอียิปต์ทางทิศใต้
นอกจากนี้ จักรวรรดิออตโตมันยังรวมเอาดินแดนต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างมาก และมีกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย เช่น ชาวกรีก ชาวเซอร์บ ชาวบัลแกเรีย โรมาเนีย อาร์เมเนีย เตอร์ก และอาหรับ รวมไปถึงชุมชนของศาสนาต่างๆ คือชุมชนมุสลิมซุนนีย์และชีอะฮ์ ชุมชนคริสเตียนและชาวยิว อย่างไรก็ตาม จักรวรรดิออตโตมันสามารถปกครองดินแดนต่างๆ เหล่านี้ไว้ได้นานถึง ถึง 600 ปี
การก่อรูปของจักรวรรดิออตโตมันเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสถาปนาราชวงศ์โดยใช้กำลังทหาร ซึ่งคล้ายคลึงกับรัฐอื่นๆ ที่ยิ่งใหญ่อีกสองรัฐที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ได้แก่ ราชวงศ์ซาฟาวิยะฮ์ (Safavid Dynasty) ในอิหร่านและรัฐมุคัล (Mogul Empire) ในอินเดีย
ทั้งสามอาณาจักรได้รับความสำเร็จทางการทหารจากการใช้อาวุธดินปืน (gunpowder) การสร้างแผนการปกครองที่มั่นคง การรวมศูนย์อำนาจทางทหารและการจัดการแบบข้าราชการ ทำให้สามารถเก็บภาษีและรักษากฎหมาย และธำรงรักษาอาณาจักรอันยิ่งใหญ่ได้ยาวนาน
อาณาเขตของอาณาจักรออตโตมันได้แผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เมื่อสุลต่านซาลิมที่ 1 (Selim I) ยึดครองอาณาจักรมัมลูก (Mamluk Dynasty) ผนวกเอารัฐเมโสโปเตเมีย (อิรักในปัจจุบัน) อียิปต์ ซีเรีย และคาบสมุทรอาหรับเข้ากับจักรวรรดิในคริสต์ศตวรรษที่ 16
นับจากนั้นเป็นต้นมา อาณาจักรออตโตมันก็อยู่ในสถานะรัฐคิลาฟะฮ์ ส่วนจักรพรรดิของออตโตมานก็มีฐานะเป็นเคาะลีฟะห์ (Caliph) หรือ ผู้นำสูงสุดของโลกมุสลิม
จักรวรรดิออตโตมันได้เจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในสมัยสุลต่านสุลัยมาน (Suleiman the Magnificent) ซึ่งครองราชย์ยาวนานที่สุดระหว่างปี ค.ศ. 1520 – ค.ศ. 1566 ในรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุคทองของจักรวรรดิ เนื่องจากเป็นกษัตริย์ผู้มีบทบาทสำคัญไม่เพียงแต่ในจักรวรรดิออตโตมันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทวีปยุโรปด้วย
พระองค์มีพระบรมราชานุภาพอันยิ่งใหญ่ทางการทหารและทางเศรษฐกิจ ทรงเป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เองในการสงครามหลายครั้งและทรงได้รับชัยชนะในสงครามหลายครั้งที่เบลเกรด โรดส์ และ ฮังการี
แต่มาพ่ายแพ้ในการล้อมกรุงเวียนนาในปี ค.ศ. 1529 สุลัยมานทรงทำการขยายดินแดนของจักรวรรดิโดยการผนวกดินแดนตะวันออกกลาง และดินแดนส่วนใหญ่ทางตอนเหนือของแอฟริกาไปจนถึงแอลจีเรีย อำนาจทางทะเลสมัยพระองค์ครอบคลุมตั้งแต่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลแดง อ่าวเปอร์เซีย ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากนี้ พระองค์ทรงมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบกฎหมาย โดยทรงออกประมวลกฎหมายกอนูน (Kanun) ซึ่งขึ้นอยู่กับพระราชประสงค์ของสุลต่านสุลัยมานเท่านั้น แต่ไม่ขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของหลักการศาสนา หรือ ชะรีอะฮ์ andate system)ันธมิตรกับอิหร่านกอนูนครอบคลุมทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายที่ดิน และกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ความสามารถของพระองค์ในฐานะนักกฎหมายจึงทำให้ทรงเป็นที่รู้จักกันในโลกตะวันออกว่า “ผู้พระราชทานกฎหมาย” (Suleiman the Lawgiver or “Kanuni Suleiman”)
อันที่จริงความเข้มแข็งและมั่นคงของจักรวรรดิออตโตมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบกฎหมาย เศรษฐกิจและสังคมที่มีประสิทธิภาพและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้รบในสงครามขยายอาณาเขตเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสามารถของตัวผู้ปกครองเองที่รู้จักบริหารบ้านเมืองและใช้วิธีประนีประนอมประชาชนใต้ปกครองที่มีหลายเชื้อชาติ และนับถือศาสนาต่างกันให้สามัคคีปรองดองกัน