ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 6
บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คริสต์ศาสนิกชนในภูมิภาคตะวันออกกลางมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนานและซับซ้อนเกินกว่าที่ผู้เขียนจะทำความเข้าใจได้ทั้งหมด หากพบว่ามีข้อมูลผิดพลาดหรืออยากเสริมข้อมูลเพิ่มเติมก็เชิญได้เลยครับ ถือเสียว่าเป็นการเรียนรู้ทำความเข้าใจตะวันออกกลางไปพร้อม ๆ กัน
ปัจจุบันทุกวันนี้ในกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลางอย่างตุรกี ซีเรีย เลบานอน อียิปต์ อิหร่าน และอิรัก ก็ยังมีชาวคริสเตียนเป็นพลเมืองทางศาสนาอันดับสองอยู่นับสิบล้านคน ลำพังในอิหร่านประเทศเดียวก็มีชาวคริสต์ออโธด็อกซ์หลายล้านคนแล้วครับ
หากใครได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่าง ๆ ของตะวันออกกลางก็จะพบว่าชาวคริสต์และมุสลิมต่างอยู่ร่วมกันอย่างสันติในพื้นที่ชุมชนเดียวกัน อันที่จริงเขาอยู่กันอย่างนี้มานับตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว โดยเฉพาะในกรุงเยรูซาเล็มนั้น พบว่าชาวคริสต์และมุสลิมปาเลสไตน์ต่างสร้างโบสถ์และมัสยิดอยู่ใกล้กัน บางแห่งมีเพียงถนน 2 เลนส์เท่านั้นที่กั้นระหว่างศาสนสถานของทั้ง 2 ศาสนา
ผู้คนของทั้ง 2 ศาสนาก็ล้วนเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน และมักไปมาหาสู่กันอยู่เสมอๆ หรือแม้แต่นั่งจิบกาแฟด้วยกันตามร้านกาแฟริมถนนทั่วไป
ว่ากันว่าจุดกำเนิดดั้งเดิมของนิกายต่าง ๆ ในศาสนาคริสต์ (ยกเว้นนิกายกรีกออร์โธด็อกซ์ (Greek Orthodox Church: ซึ่งเป็นนิกายทางการของอาณาจักรไบเซนไตน์) เริ่มก่อตัวมาจากขบวนการต่างๆ ที่มีแนวคิดแตกแยกทางศาสนาในช่วงศตวรรษที่ 5 และ 6 เป็นการโต้แย้งทางศาสนาระหว่าง 2 ชุมชนคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง คือชุมชนคริสเตียนคอปท์ในอียิปต์ (Copts) กับชุมชนคริสเตียนมาโรไนต์ในเลบานอน (Maronites)
ชนกลุ่มน้อยคริสเตียนอีกชุมชนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกันคือ ชุมชนของชาวอัสซีเรียนิกายเนสโทเรียน (Assyrian Nestorian) ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศอิรัก เนสโทเรียนเป็นนิกายที่แตกออกมาจากคริสเตียนไบเซนไตน์ (Byzantine church)
ชาวอัสซีเรีย ซึ่งใช้ภาษาอาราเมอิค (Aramaic) มีถิ่นฐานดั้งเดิมที่กระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่าง ๆ บริเวณเขตเทือกเขาที่กั้นระหว่างภาคเหนือของอิรักและตุรกี พวกนี้ได้รับอิทธิพลจากการเมืองในยุคอาณานิคมเช่นเดียวกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆในภูมิภาค
ชาวอัสซีเรียกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและชักนำจากอังกฤษ ดิ้นร้นแบ่งแยกดินแดนของตนออกจากอิรัก เพื่อสถาปนารัฐอิสระหรือรัฐชาติของตนเองขึ้นทางภาคเหนือ ความพยายามที่ผิดพลาดครั้งนั้นนำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งสำคัญ ชาวอัสซีเรียหลายพันคนถูกกองทัพอิรักฆาตกรรมหมู่ใน ค.ศ. 1933 ระหว่างที่พวกเขาพยายามหลบหนีออกจากอิรักไปยังซีเรีย ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของฝรั่งเศส
ชาวคอปท์เป็นชุมชนคริสต์เตียนที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในอียิปต์ โดยคิดเป็นอัตราร้อยละ 5-7 ของประชากรทั้งหมดกว่า 70 ล้านคนของอียิปต์ พูดภาษาอาหรับแบบอียิปต์และมีวัฒนธรรมที่คล้ายกับชาวอียิปต์ทั่วไปจนแทบจะแยกกันไม่ออก
ในอียิปต์ โบสถ์คริสต์เตียนของชาวคอปท์ (Coptic Church) ถือเป็นโบสถ์ประจำชาติ ซึ่งมีพิธีสวดมนต์ในแบบของตนเอง (คือ สวดเป็นภาษาโบราณตามยุคอียิปต์โบราณ) มีปฏิทินศาสนกิจเป็นของตนเอง ตลอดจนมีคณะสมณศักดิ์ที่นำโดยหัวหน้าบาทหลวง
ส่วนคริสต์เตียนมาโรไนต์ถือเป็นกลุ่มก้อนที่ใหญ่ที่สุดของคริสต์เตียนนิกายยูนิแอท (Uniate) ในตะวันออกกลาง ส่วนใหญ่อยู่ในเลบานอน ยูนิแอทเป็นชื่อของนิกายใหญ่นิกายหนึ่งในตะวันออกกลางที่ละทิ้งพิธีการทางศาสนาแบบคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ตะวันออก และหันมาเข้าร่วมกับนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งยอมรับนับถือในองค์สันตะปาปา ยึดถือพิธีการทางศาสนาแบบลาติน
คริสต์เตียนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญในสายยูนิแอทคือ ชาวแคลเดีย (Chaldean) ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอิรัก (มีบางส่วนอยู่ในซีเรียและอิหร่าน) และมักประกอบอาชีพธุรกิจการโรงแรมและร้านอาหาร แต่ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวแคลเดียจำนวนมากก็อพยพไปอยู่สหรัฐอเมริกาและแคนาดา
เมื่อเลบานอนถูกประกาศเป็นสาธารณรัฐใน ค.ศ. 1926 กลุ่มต่าง ๆ ทางศาสนาก็เข้ามามีบทบาทร่วมกันทางการเมือง ทั้งนี้ทุกกลุ่มต่างใช้ภาษาเดียวกันคือ ภาษาอาหรับ ที่นั่งในรัฐสภาแห่งชาติถูกจัดสรรให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่ม โดยแต่ละตำแหน่งสำคัญ ๆ ถูกสงวนไว้สำหรับกลุ่มต่างๆ
กล่าวคือ ตำแหน่งประธานาธิบดีสำหรับคริสต์เตียนมาโรไนต์ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสำหรับมุสลิมซุนนีย์ และตำแหน่งประธานรัฐสภาสำหรับมุสลิมชีอะห์ กระนั้นก็ตาม ระบบดังกล่าวนี้ก็ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้
ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ความตึงเครียดเดิมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทางศาสนา ประกอบกับแรงกดดันจากภายนอก ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองที่สร้างความเสียหายให้กับเลบานอนอย่างร้ายแรงจนถึงช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 20
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ จึงยากต่อการคาดเดาได้ว่าระบบการเมืองการปกครองของเลบานอนในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใดและกลุ่มต่างๆ จะมีบทบาทอย่างไรในทางการเมือง ซึ่งผมจะเขียนรายละเอียดเรื่องนี้อีกทีในภายหลังครับ
