การเมืองมาเลเซีย: เกมส์ การต่อรอง และความท้าทายของนายกรัฐมนตรีคนใหม่
บทความโดย ซารีฮาน สุหลง นักวิจัยประจำศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถือเป็นช่วงเวลาที่สื่อมวลชนทั่วโลกต่างจับจ้อง ความพยายามพลิกขั้วทางการเมืองของ อดีตนายกรัฐมนตรี ตุน มหฎิร โมฮัมหมัด (Tun Mahathir Mohamad) กับ อันวาร์ อิบรอฮีม (Anwar Ibrahim) จากกระแสข่าวการสลายแนวร่วมพันธมิตรปากาตัน ฮาราปัน (Pakistan Harapan: PH) หรือในชื่อภาษาไทยว่า “แนวร่วมแห่งความหวัง” จากเกิดกระแสข่าวเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2020 นำมาสู่การเจรจาเพื่อต่อรองทางการเมืองภายใต้พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย หรือ ยังดี-เปอร์ตวน อากง (Yang di-Pertuan Agong) ในท้ายที่สุดอดีตนายกรัฐมนตรี มหฎิร โมฮัมหมัด ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของมาเลเซีย
แต่ทว่าการต่อรองทางการเมืองเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น การถอยออกมาของมหฎิร ท่ามกลางการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของแนวร่วม Pakatan Harapan และการแทรกแซงการจับขั้วโดยพรรคอัมโน (UMNO )พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียที่ครองอำนาจมายาวนานนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร และพรรคปาส (Pas) พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย
7 วันที่ผ่านมาในมาเลเซียเกิดอะไรขึ้น?
วันที่ 10 พฤษภาคม 2018 หลังการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย พันธมิตรแนวปากาตัน ฮาราปัน โดยมีพรรค Bersatu ของมหฎิร โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 92 ปี กับพรรค PKR อดีตคู่ขัดแย้งทางการเมืองอย่าง อันวาร์ อิบรอฮีม ชนะการเลือกตั้งเหนือพรรคอัมโน ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน และยังสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่กับพรรคการเมืองในมาเลเซียที่รวมเอาพรรคเล็กๆภายใต้แนวร่วม PH จัดตั้งรัฐบาลผสมได้ โดยมีนายกรัฐมนตรีมหฎิร โมฮัมหมัด และวันอาซีซะฮ์ วันอิสมาอีล ภรรยาอันวาร์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี การรวมตัวกันภายในแนวร่วมเพื่อกำจัดอำนาจของอดีตนายกรัฐมนตรี นาญิบ รอซาก ที่พัวพันกับคดีการโกงระดับโลกอย่าง 1MDB เป็นความสำเร็จภายใต้เงื่อนไขว่า มหฎิร โมฮัมหมัด จะเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วง 2 ปีแรก และจะส่งต่อตำแน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ อันวาร์ อิบรอฮีม ทันที
เมื่อเวลาล่วงเลยเข้าปี 2020 มีการทวงถามถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอันวาร์อย่างกว้างขวางในหมู่แกนนำแนวร่วม PH แนวร่วมบางส่วนลงความเห็นเป็นไปในทางเดียวกันว่าจะไม่มีการส่งมอบตำแหน่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จนมาถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2020 เกิดกระแสข่าวการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยส่วนหนึ่งของแนวร่วม PH จะกลับไปจับมือกับพรรคอัมโนเพื่อให้มหฎิรเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป อันนำมาซึ่งการล่มสลายของแนวร่วม PH ด้านอันวาร์ อิบรอฮีม ก็ออกมาให้ข่าวการเปลี่ยนขั้วที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จนนำมาสู่การเจรจาต่อรองภายใต้พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย และทำให้มหฎิร โมฮัมหมัด ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งภายหลังเขาได้ให้สัมภาษณ์ว่า “เขาไม่มีทางเลือกมากนัก จึงต้องลาออก”
สื่อมาเลเซียต่างรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา การต่อรองทางการเมืองเกิดขึ้นภายในวังอิสตานา ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชาธิบดี อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะ ชาห์ หรืออากง ทรงใช้พระราชอำนาจเชิญแต่ละฝ่ายเข้ามาพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาการจัดตั้งรัฐบาล นำมาซึ่งเงื่อนไขต่างๆ มากมาย ต่อมา มหฎิร โมฮัมหมัด ได้ออกมาประกาศว่าจะสามารถร่วมงานกับกลุ่มคนจากพรรคอัมโนเป็นรายคนเท่านั้น จะไม่ร่วมกับพรรคอัมโนทั้งหมด
การต่อรองครั้งนี้ ทั้งสื่อและประชาชนชาวมาเลเซีย เชื่อว่าเป็นการช่วงชิงต่อสู้ระหว่างมหฎิร กับ อันวาร์ แต่แล้วความจริงก็ปรากฏ การโผล่ขึ้นของตัวละครสำคัญที่พลิกขั้วการเมืองอย่างร้อนแรงในเวลาต่อมา กลับเป็นตัวเดินเกมตัวสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นม้ามืดอย่าง มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน (Tan Sri Muhyiddin Yassin) รัฐมนตรีมหาดไทยและเบอร์สองพรรค Bersatu ของมหฎิร และ อัสมิน อาลี (Mohamed Azmin Ali) รัฐมนตรีเศรษฐกิจและแกนนำพรรค PKR ของอันวาร์ ทั้งสองเป็นอดีตแนวร่วม PH ที่กลับเป็นตัวเจราจาหลักกับพรรคอัมโนและพรรคปาส เพื่อต่อรองและจัดตั้งรัฐบาล
การต่อรองเข้าสู่วันที่ 5 และ 6 การเปลี่ยนบทบาทและการพูดคุยเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จนมาถึงค่ำวันที่ 28 กุมภาพันธ์ มีสูตรการต่อรองแบบใหม่เกิดขึ้น คือการผลักดันของพรรคอัมโนและพรรคปาสที่จะเสนอ มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ต่ออากงที่วังอิสตานา หลังจากนั้นมีแถลงการณ์มากมายที่ออกมาจากมหฎิร ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าอาจจะสนับสนุนมูฮ์ยิดดิน แต่ภายหลังเมื่อมีการพูดคุยโดยตรงอีกครั้งกับอันวาร์ ก็อาจจะสลับกันไปอีกมุมหนึ่ง
จนมาถึงเช้าวันที่ 29 กุมภาพันธ์ อันวาร์ อิบรอฮีม ให้สัมภาษณ์นักข่าวก่อนเข้าไปพบอากงในวังอิสตานา อันวาร์ประกาศว่า แนวร่วม PH กลับมาร่วมมือกันอีกครั้ง และกำลังจะเข้าไปเสนอชื่อ มหฎิร โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี ในอีกฝากหนึ่งเวลาบ่าย มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน และอัสมิน อาลี ซึ่งเป็นตัวแทนพรคคอัมโน ได้เข้าเฝ้าอากงเพื่อเสนอจัดตั้งรัฐบาลใหม่เช่นเดียวกัน แต่แล้วเวลาสี่โมงเย็น สำนักพระราชวัง แถลงพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชาธิบดี โปรดเกล้าแต่งตั้ง มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซีย ท่ามกลางความยินดีของพรรคอัมโน และความสงสัยมากมายของแนวร่วมอื่นๆ หลังจากนั้นไม่นาน มหฎิร โมฮัมหมัด และแนวร่วม PH ได้เปิดเผยรายชื่อผู้แทนที่สนับสนุนให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 114 รายชื่อ ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงสภา และคงจะมากกว่าเสียงสนับสนุนที่อยู่ในมือของมูอ์ยิดดิน โดยจะเสนอรายชื่อทั้งหมดต่ออากงอีกครั้ง เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงราชโองการ
แต่แล้วเช้าวันที่ 1 มีนาคม ทางสำนักพระราชวังอิสตานา ได้ปฎิเสธการขอเข้าเฝ้าอากงของมหฎิร โมฮัมหมัด ที่จะเสนอรายชื่อทั้ง 114 รายชื่อ และเวลา 10 นาฬิกา พระราชพิธีแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็เกิดขึ้น ท่ามกลางการแถลงข่าวของฝ่ายมหฎิร และแนวร่วม PH ที่อาจจะท้าทายพระราชอำนาจของอากง ที่จะเสนอเปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยตอนหนึ่งของการแถลงข่าว มหฎิร กล่าวว่า “เขารู้สึกเหมือนถูกทรยศ” และ “ทางสำนักพระราชวังปิดช่องทางติดต่อกับเขาโดยสิ้นเชิง เขาจึงต้องต่อสู้ด้วยวิธีประชาธิปไตยผ่านรัฐสภาและด้วยเสียงส่วนใหญ่”
เห็นได้ชัดว่า เกมส์การเมืองเกิดขึ้นด้วยเหตุผลของการไม่ยอมรับอันวาร์ เพื่อเปิดทางสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันจะกล่าวได้ว่าเกือบสองปีที่ผ่านมา ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ของทางฝากฝั่งของ PKR อาจจะยังมีไม่มากนัก จนนำมาสู่การพลิกล็อคขั้วการเมืองเพื่อให้อำนาจการบริหารยังเป็นของมหฎิร แต่ด้วยเงื่อนไขที่มากมายต่อพรรคอัมโนของมหฎิร ทำให้พรรคอัมโนโดยมูฮ์ยิดดินและอัสมินต้องจับมือกับพรรคปาส เสนอชื่อคนที่เหมาะสมและไม่ยุ่งยากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน อำนาจทางการเมืองจึงกลับไปสู่จุดเดิมคือ พรรคอัมโน และหลังจากนี้การเปลี่ยนแปลงก่อนหน้านี้ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี 1MDB ที่อาจพลิกผลันเปลี่ยนแปลง เพราะหลังจากพรรคอัมโน กลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อัยการสูงสุดที่ดูแลคดีก็ประกาศลาออกทันที สอดรับกับอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้ถูกกล่าวหาในคดี นาญิบ รอซาก ก็ได้โพสบนเฟซบุุ๊กแสดงความยินดีกับมูฮ์ยิดดินและพรรคอัมโนทันที
พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีกับการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ท่ามกลางกระแสความร้อนแรงการเมืองของมาเลเซีย ดูเหมือนว่าจะยังมีเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงมาก เฉกเช่นเดียวกับนักการเมือง นั่นคือ การตัดสินพระทัยและพระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งมาเลเซีย หรือ อากง เกี่ยวกับการโปรดเกล้าตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากเกิดวิกฤติทางการเมืองระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ รัฐธรรมนูญมาเลเซียได้ให้อำนาจต่อสมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อแต่งตั้งและโปรดเกล้าผู้ที่เหมาะสมและได้รับเสียงข้างมากจากผู้แทนราษฎรมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างที่ทราบกันดีว่าระบอบปกครองกษัตริย์ของมาเลเซีย แตกต่างไปจากประเทศที่มีกษัตริย์ปกครองอื่นๆทั่วไป เจ้าผู้ครองรัฐหรือสุลต่านจาก 9 รัฐของมาเลเซีย จะร่วมกันเลือกสุลต่านเพื่อดำรงตำแหน่งสมเด็จพระราชาธิบดี หรือ ยังดี เปอร์ตวน อากง ภายใต้การประชุมร่วมที่เรียกว่า The Conference of Rulers หรือ Majilis Raja-Raja หรือในภาษาไทยเรียกว่า “สภาผู้ปกครอง” โดยมีวาระคราวละ 5 ปี
สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบัน พระนามว่า อัล-สุลต่าน อับดุลเลาะ ชาห์ สุลต่านแห่งรัฐปาหัง ทรงเข้ารับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2019 ต่อจากสมเด็จพระราชาธิบดีมูฮัมหมัดที่ 5 แห่งรัฐกลันตัน ที่ทรงประกาศสละราชบัลลังก์อย่างกะทันหัน
การใช้พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีเพื่อจัดการปัญหาทางการเมืองเป็นเรื่องที่ดำเนินการภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของมาเลเซีย และการตัดสินพระทัยของอากงในวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ได้รับการยกย่องจากชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามที่จะเจรจากับทุกกลุ่มการเมือง พระองค์ทรงเชิญพรรคการเมืองต่างๆมาสอบถามถึงความคิดเห็นและความเป็นไปได้ของการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดการให้กำลังใจของโลกออนไลน์ภายใต้แฮชแท็ก #SupportAgong
ท้ายที่สุดพระราชวินิจฉัยของอากง ทรงโปรดเกล้า มุฮ์ยิดดิน ยัสซิน รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่
อย่างไรก็ตาม พระราชอำนาจของสมเด็จพระราชาธิบดีมาเลเซีย ได้เคยใช้มาก่อนหน้านี้ เมื่อหลังเลือกตั้งปี 2018 ในตอนนั้นแนวร่วม Pakatan Harapan ชนะการเลือกตั้ง และจะเสนอมหฎิร โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีเสียงที่ยังไม่แน่ใจอยู่ อากงในขณะนั้น สุลต่าน มูฮัมหมัดที่ 5 จึงทรงเรียก วันอาซีซะห์ ภรรยาอันวาร์ อิบรอฮีม แกนนำพรรค PKR แล้วถามถึงความสมัครใจและจำนวนเสียงสนับสนุน จนแน่ใจแล้วว่าได้รับการสนับสนุนที่มากเกินกึ่งหนึ่ง จึงได้ประกาศแต่งตั้ง มหฎิร โมฮัมหมัด เป็นนายกรัฐมนตรี

สมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลลาห์ ยังดี-เปอร์ตวน อากงแห่งมาเลเซีย เสด็จออกในการพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายมูฮ์ยิดดิน ยัสซิน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ณ พระราชวังหลวง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (รูปภาพจาก ROYAL Family in the WORLD)
มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาเลเซีย
ภาพตามสื่อต่างๆของมูฮ์ยิดดินก่อนหน้านี้ คือเบอร์สองของ มหฎิร โมฮัมหมัด ผู้ร่วมสร้างพรรคอัมโนสมัยรุ่งเรืองของมหฎิรร่วมกับอันวาร์ อิบรอฮีม และนาญิบ รอซาก เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายสมัย เคยถูกขับไล่ออกจากพรรคอัมโน ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนาญิบ รอซาก เมื่อตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของกองทุน 1MDB ของนายกรัฐมนตรีนาญิบ และยังร่วมสร้างพรรค Bersatu ร่วมกับมหฎิร โมฮัมหมัด จึงถือได้ว่าเป็นคนสนิทของมหฎิร และมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง จนได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซีย

ความหลังอันแสนหวานของแกนนำพรรคอัมโนในอดีต สามในสี่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และอีกครั้งกับพ่ายแพ้ของหนึ่งคน โดยเรียงจากซ้ายไปขวา ประกอบด้วย มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน อันวาร์ อิบรอฮีม มหฎิร โมฮัมหมัด และนาญิบ รอซาก (รูปภาพจาก Malaysiakini.twitter)
มูฮ์ยิดดิน ยัสซิน วัย 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1947 มีพ่อเป็นนักการศาสนาคนสำคัญของรัฐยะโฮร์ เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้น และได้เริ่มรับราชการ แต่ในปี 1974 มุฮยิดดินได้ลาออกจากราชการเพื่อลงสนามการเมืองอย่างเต็มตัวและเข้าเป็นสมาชิกพรรคอัมโนอย่างเป็นทางการ
มูฮ์ยิดดินได้เป็นผู้แทนรัฐยะโฮร์ และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลมหฎิร เมื่อปี 1995 จนกลายมาเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคอัมโน และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนาญิบ รอซาก เมื่อเขาได้ตั้งข้อสังเกตความโปร่งใสของโครงการ 1MDB จึงถูกพรรคอัมโนมีมติขับไล่ จนมาสร้างพรรคใหม่กับมหฎิรอีกครั้ง และได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของมาเลเซีย
รายงานของสื่อมาเลเซีย Malaysiakini และ New Straits Times ได้อธิบายมูฮ์ยิดดิน เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรคอัมโน เนื่องจากมีบุคคลิกที่ไม่โดดเด่นนัก และมักจะเก็บตัวมากกว่าจะแถลงการณ์ทุกอย่าง และที่สำคัญยังมีประสบการณ์การทำงานทางการเมืองมาอย่างยาวนาน และยังเข้ากับพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งพรรคอัมโน พรรคปาส และพรรคซาราวัค พรรคขนาดกลางอื่นๆ เมื่อปีที่แล้ว มูฮ์ยิดดิน ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน และได้เข้ารักษาตัวที่ประเทศสิงคโปร์เป็นเวลานาน จนสามารถกลับมาทำงานต่อได้
หลังจากนี้ อนาคตของมาเลเซียจะเป็นอย่างไรภายใต้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ท่ามกลางกระแสการต่อต้านจากพรรคฝั่งตรงข้าม เพราะเกมส์การเมืองที่วางโดยมหฎิร ยังไม่ได้เริ่มเล่นในรัฐสภา และผลพวงของการเปลี่ยนขั้วจะเปลี่ยนอนาคตมาเลเซียไปในทิศทางไหน คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อ่านเพิ่มเติม