ย้อนพิจารณาแผนสันติภาพตะวันออกกลาง ตอนที่ 2

ย้อนพิจารณาแผนสันติภาพตะวันออกกลาง ตอนที่ 2

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณเพื่อนทุกคนที่ให้ความสนใจติดตามเรื่องกระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางกันมากพอสมควร แต่เรื่องยังไม่จบเท่านั้นครับ ในวันที่ 13 มีนาคม 2002 สภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ผ่านมติที่ 1397 พูดถึง “วิสัยทัศน์ของภูมิภาคที่จะมี 2 รัฐ (อิสราเอลกับปาเลสไตน์) อยู่ร่วมกันอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ภายในพรมแดนที่มีการรับรองและมีความปลอดภัย” สหประชาชาติบอกว่า มีเพียงแนวทางนี้เท่านั้นที่จะสามารถฟื้นฟูสันติภาพทั้งในปาเลสไตน์และในอิสราเอล

วิสัยทัศน์ดังกล่าวนี้ได้ถูกนำไปขยายผลจนกลายเป็นแผนสันติภาพ “โรดแมป” (Road Map) ที่ดำเนินการโดยกลุ่ม “ควอเตท” (Quartet) อันเป็นการรวมกลุ่มกันของ 4 ฝ่าย คือ สหรัฐฯ สหประชาชาติ สหภาพยุโรป และรัสเซีย แผนสันติภาพนี้ถูกประกาศใช้ในช่วงต้น ค.ศ. 2003

แผนสันติภาพโรดแมป หมายถึง แผนที่ปาเลสไตน์และอิสราเอลจะต้องร่วมเดินทางไปด้วยกันบนเส้นทางการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธี จุดมุ่งหมายคือ การสถาปนารัฐเอกราชปาเลสไตน์ขึ้นโดยอยู่เคียงข้างกับอิสราเอล โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเดินตามขั้นตอนที่ได้วางแผนไว้อย่างเคร่งครัด อันจะเป็นการปูทางไปสู่การตั้งรัฐปาเลสไตน์

ขั้นตอนแรกหรือระยะแรก ฝ่ายปาเลสไตน์ต้องหยุดยั้งความรุนแรงและการระเบิดพลีชีพ พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูปรัฐบาลปาเลสไตน์เสียใหม่ ส่วนอิสราเอลจะต้องยุติการขยายนิคมชาวยิวในดินแดนใต้การยึดครอง และจะต้องรื้อถอนนิคมชาวยิวที่ตั้งขึ้นใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2001

แผนสันติภาพโรดแมป ยังระบุรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องปฏิบัติตามในขั้นตอนแรก ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2003 ในขณะเดียวกัน กฏเกณฑ์หรือแนวทางอย่างกว้างๆ จะถูกตระเตรียมไว้สำหรับแผนสันติภาพในระยะที่ 2 คือ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2003 ถึง ธันวาคม 2003 หลังจากนั้น จึงจะเริ่มแผนที่ 3 ซึ่งจะสิ้นสุดใน ค.ศ. 2005 โดยคาดหมายว่าจะบรรลุข้อตกลงสถานภาพขั้นสุดท้ายของรัฐปาเลสไตน์และยุติปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในที่สุด แต่สุดท้าย แผนสันติภาพโรดแมปก็เป็นเพียงแค่อีกแผนการหนึ่งที่ยังอยู่ห่างไกลจากความสำเร็จในการสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง

ถึงอย่างนั้น ความพยายามที่จะริเริ่มกระบวนการสันติภาพก็เกิดขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน 2007 มีการพบปะเจรจาระหว่างอิสราเอล – ปาเลสไตน์ โดยมีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพที่เมืองแอนนาโปลิส (Annapolis) รัฐแมริแลนด์ ในการประชุมครั้งนี้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ได้พูดถึงการตัดสินใจร่วมกัน “ที่จะวางกรอบปูพื้นฐานในการจัดตั้งรัฐ – ชาติใหม่ – รัฐประชาธิปไตยปาเลสไตน์ที่จะอยู่เคียงคู่อิสราเอลด้วยสันติและความมั่นคง … โดยจะมีการดำเนินการให้บรรลุข้อตกลงกันให้ได้ก่อนปลายปี 2008”

แม้ว่าการประชุมครั้งนี้จะถูกมองในเบื้องต้นว่าประสบความสำเร็จ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้กระบวนการสันติภาพที่ “ตายสนิท” มานานกว่า 7 ปี สามารถฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งได้ แต่แผนการสันติภาพดังกล่าวก็ล้มครืนลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกแยกภายในกันเองอย่างรุนแรงระหว่างฝ่ายฮามาส (ซึ่งสามารถชนะการเลือกตั้งปี 2006 จนขึ้นมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล) กับกลุ่มฟาตะห์ (ซึ่งเป็นขั้วอำนาจเก่า) การแตกแยกกันเองทำให้มติมหาชนเกิดขึ้นได้ยาก อีกทั้งการที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้แยกดินแดนเขตปกครองออกจากกันเป็น 2 ส่วน (ฟาตะห์ปกครองเวสต์แบงก์ ส่วนฮามาสปกครองกาซ่า) ก็ส่งผลให้มะห์มูด อับบาส ประธานาธิบดีปาเลสไตน์ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนกระบวนการเจรจาสันติภาพให้ก้าวหน้าได้มากนัก เพราะเขามิได้เป็นตัวแทนหนึ่งเดียวของชาวปาเลสไตน์อีกต่อไป

เช่นเดียวกัน ทางฝ่ายอิสราเอลเองก็สูญเสียอำนาจความชอบธรรมที่จะผลักดันแผนสันติภาพแอนนาโปลิส เพราะรัฐบาลต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะ ตลอดจนกรณีข้อหาคอร์รัปชั่นของนายกรัฐมนตรีอิสราเอลขณะนั้น หรือ นาย เอฮุด โอลเมิร์ต (Ehud Olmert) ความจริงคะแนนนิยมของโอลเมิร์ตเองได้ตกต่ำลงตั้งแต่ความล้มเหลวในการทำสงครามเลบานอนเมื่อปี 2006 เมื่อถูกกดดันจากกรณีคอร์รัปชั่นอีก เขาจึงถูกบีบให้ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนกันยายน 2008 ขณะเดียวกัน ผู้นำคนใหม่ที่สืบทอดตำแหน่งต่อจากเขา หรือนาง Tzipi Livni ก็ล้มเหลวที่จะจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นมาได้ภายในเดือนตุลาคม อันส่งผลให้ต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2009

ฉะนั้น ความไม่แน่นอนของการสร้างเอกภาพในหมู่ชนกลุ่มต่าง ๆ ของปาเลสไตน์ ประกอบกับการเมืองที่ไม่นิ่งในอิสราเอลที่ต้องรอดูผลการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอันไปทำลายความหวังของแผนการประชุมที่แอนนาโปลิส และทำให้ “รัฐอิสระปาเลสไตน์” ไม่สามารถจัดตั้งขึ้นมาได้สักที

การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ของ บารัค โอบามา ได้สร้างความหวังให้กับประชาคมโลกว่ากระบวนการเจรจาสันติภาพจะถูกผลักดันอย่างจริงจัง แต่ท้ายที่สุดความหวังนั้นก็ต้องพังทลายลงเมื่อนาง ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนอิสราเอลในช่วงปลายปี 2009 เธอได้กล่าวชื่นชมนาย เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอิสราเอล ที่ให้คำมั่นจะสร้างสันติภาพขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์ ทั้ง ๆ ที่เขายังปฏิเสธที่จะหยุดดำเนินการขยายการก่อสร้างนิคมชาวยิวแห่งใหม่ในนครเยรูซาเล็มและพื้นที่เขตเวสต์แบงก์

ทั้งนี้ หากจำกันได้ ทันทีที่ บารัค โอบามา (Barack Obama) ได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ (ต้นปี 2009) เขาได้กล่าวแถลงการณ์จากทำเนียบขาว ส่งสัญญาณอย่างจริงจังที่จะหยุดยั้งการก่อสร้างนิคมชาวยิว ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลอิสราเอลอย่างเด็ดขาด เพื่อเป็นเครื่องหมายนำทางไปสู่การเจรจาสันติภาพกันอย่างจริงจังระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

หลังจากที่ประธานาธิบดีโอบามาได้ประชุมหารือกับเนทันยาฮูครั้งแรกในเดือนพฤษภาคม 2009 นางฮิลลารีก็ได้ออกมากล่าวทันทีว่า รัฐบาลใหม่สหรัฐฯ ต้องการให้อิสราเอลหยุดการก่อสร้างขยายนิคมชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ทั้งหมด โอบามาได้ออกมายืนยันเรื่องนี้อีกครั้งพร้อมทั้งให้คำมั่นที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ให้ได้ภายในหนึ่งปี แต่ท้ายที่สุดคำมั่นสัญญานั้นก็ไม่สามารถถูกนำไปปฏิบัติจริงได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันของกลุ่มล็อบบียิสต์ชาวยิวในสหรัฐฯ เอง

ยิ่งกว่านั้น โอบามาเองกลับเป็นคนที่ออกมาวิจารณ์รายงานโกลส์ตัน (Goldston Report) ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นรายงานที่ได้ตั้งข้อกล่าวหาอิสราเอลว่าเป็นอาชญากรสงครามจากการถล่มดินแดนกาซ่าเมื่อช่วงต้นปี 2009 ขณะเดียวกันสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ก็มีมติด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดหรือ 344 ต่อ 36 เสียง ปฏิเสธไม่ยอมรับรายงานฉบับดังกล่าว แม้ว่ารายงานฉบับนั้นจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศมากมายเพียงใดก็ตาม

ฉะนั้น นอกจากสหรัฐฯ (จากการขอร้องวิงวอนโดยอิสราเอล) จะไม่สามารถกดดันให้อิสราเอลยุติการขยายนิคมชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ได้แล้ว สหรัฐฯยังออกมาปกป้องอิสราเอลจากการถูกดำเนินคดีในข้อหาอาชญากรสงครามหลังยุทธการถล่มกาซ่าอีกด้วย

ในเรื่องนี้ Gideon Levy นักเขียนที่มีชื่อเสียงชาวยิวได้เขียนบทความวิจารณ์สหรัฐฯ ไว้ตอนหนึ่งว่า ….

“ก่อนหน้านี้ไม่มีประเทศไหนในโลกที่สหรัฐฯ จะยอมคุกเข่าขอร้องเช่นนี้มาก่อน (หมายถึงอิสราเอล) ดูอย่างดินแดนวิกฤติอื่น ๆ ซิ สหรัฐฯ นั้นเลือกปฏิบัติแบบแตกต่าง สหรัฐฯ เลือกทิ้งระเบิดในอัฟกานิสถาน รุกรานอิรัก หรือข่มขู่คุกคามที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านและเกาหลีเหนือ มีใครบ้างไหมในวอชิงตันที่ออกมาพิจารณาร้องขอให้เจรจากับ ซัดดัม ฮุสเซน ให้ถอนตัวออกมาจากการยึดครองคูเวต?”

เพื่อน ๆ ครับ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการสันติภาพตะวันออกกลางจะเดินหน้าไม่ได้หากอิสราเอลยังไม่หยุดพฤติกรรมการขยายดินแดนและสหรัฐฯยังให้ท้ายอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา การเจรจาหรือการทำข้อตกลงสันติภาพใด ๆ คงจะไม่บรรลุผลหากขาดการมีส่วนร่วมของชาวปาเลสไตน์ และกลุ่มฮามาสในฐานะอำนาจใหม่ที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน และที่สำคัญสุดคือ รัฐปาเลสไตน์ที่สมบูรณ์จะยังเกิดขึ้นไม่ได้หากชาวปาเลสไตน์ยังแบ่งแยกแตกความสามัคคีกันอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน