ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 3

ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 3

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วิถีที่แตกต่างจากผู้คนตามชนบทและเมืองคือ พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ (nomadic pastoralists) ซึ่งประกอบขึ้นเป็นชนกลุ่มน้อยของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค (ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 มีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 1)

แม้สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อพวกเร่ร่อนจะแตกต่างหลากหลายในแต่ละประเทศ แต่ในภาพรวมแล้ว พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ก็ตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมคลายนับตั้งแต่ช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 ยกตัวอย่างเช่นในอิรัก เมื่อ ค.ศ. 1900 มีประชากรที่เป็นพวกเร่ร่อนอยู่ประมาณร้อยละ 35 – 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่พอถึง ค.ศ. 1970 กลับเหลืออยู่เพียงร้อยละ 2.8 ในซาอุดีอาระเบีย เมื่อ ค.ศ. 1900 ประชากรของพวกเร่ร่อนมีอยู่ร้อยละ 40 แต่พอถึง ค.ศ. 1970 กลับเหลืออยู่เพียงร้อยละ 11 ส่วนลิเบียใน ค.ศ. 1960 นั้น มีประชากรที่เป็นพวกเร่ร่อนอยู่ร้อยละ 25 แต่ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1990 กลับมีพวกเร่ร่อนเหลืออยู่เพียงร้อยละ 3.5 จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ

จำนวนของพวกเร่ร่อนที่ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950 เป็นผลมาจากการกำเนิดของรัฐ-ชาติสมัยใหม่และความมั่งคั่งที่หลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคจากรายได้การค้าน้ำมัน ส่งผลให้พวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ต้องถูกอยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้น

ในซาอุดีอาระเบียพวกเร่ร่อนที่เคยมีอิสระและภูมิใจกับศักดิ์ศรีของตนเองในฐานะชาวเบดูอินที่เลี้ยงอูฐ แต่ปัจจุบันพวกเขากลับกลายเป็นสมาชิกของ กองกำลังสำรองแห่งชาติ (Saudi Reserve National Guard) หรือไม่ก็เป็นพวกแรงงานในแหล่งอุตสาหกรรมน้ำมัน ส่วนในอิรัก ซีเรีย อิหร่าน และอียิปต์ มาตรการการปฏิรูปที่ดิน ทำให้แบบแผนการใช้ที่ดินเปลี่ยนไป ประกอบกับการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้น ก่อผลให้เกิดการทำลายวิถีการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของพวกเร่ร่อน เร่งให้พวกเขาเข้าผสมผสานรับเอาวัฒนธรรมแห่งชาติมาเป็นของตนมากขึ้น

พวกเร่ร่อนแม้จะเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีส่วนมากนักต่อการผลิตอาหารเมื่อเทียบกับชาวไร่ชาวนา แต่ก็เป็นกลุ่มชนที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนชาวอาหรับ เบอร์เบอร์ เติร์ก เคิร์ด หรือเปอร์เซีย โดยทางประวัติศาสตร์แล้ว กลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนที่พูดภาษาอาหรับ นับเป็นกลุ่มคนที่แสดงบทบาทสำคัญในช่วงยุคต้นของอิสลามด้วยการพิชิตอาณาจักรไบเซนไตน์และซัซซานิด ส่วนกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนเบอร์เบอร์และชนเผ่ากึ่งเร่ร่อนก็เป็นกลไกสำคัญของกองทัพอิสลามที่เข้าไปพิชิตสเปน

ในระดับท้องถิ่นพวกเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์แต่เดิมนั้นถือเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านท้าทายอำนาจทางการเมืองของแต่ละรัฐ เนื่องจากพวกเขาต้องต่อสู้เพื่อรักษาการปกครองตนเองทางการเมืองและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างของพวกเขาเอาไว้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนจะมีองค์ประกอบทางสังคม-การเมืองและเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีความเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมด พวกเขามีความแตกต่างกันทางภาษา สำนักคิดทางศาสนา และแบบแผนปฏิบัติทางวัฒนธรรม

แม้แต่ภายในประเทศเดียวกัน ก็มีกลุ่มชนเร่ร่อนที่แตกต่างหลากหลายอย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่นทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ก็มีทั้งกลุ่มชนเร่ร่อนที่เป็นอาหรับ เติร์ก และเคิร์ด อยู่ร่วมในอาณาบริเวณเดียวกัน เช่นเดียวกับทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านที่มีเผ่าชนชาวอาหรับ เติร์ก และเปอร์เซีย อาศัยอยู่ร่วมดินแดนเดียวกัน ชาวเคิร์ดที่เป็นพวกเร่ร่อนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสายซุนนีย์ แต่ก็มีบางกลุ่มที่เป็นชีอะห์ ส่วนในมอริเตเนีย โมร็อกโก และแอลจีเรียนั้น เผ่าชนชาวอาหรับและเบอร์เบอร์ก็อยู่ร่วมกันแบบผสมปนเป

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนเลี้ยงสัตว์ แน่นอนว่าย่อมสะท้อนถึงความแปลกแยกระหว่างกลุ่มชนต่าง ๆ ในตะวันออกกลาง นักวิชาการตะวันตกบางคนมักเน้นย้ำถึงความแปลกแยกแตกต่างทางวัฒนธรรมและนิกายศาสนาในตะวันออกกลาง เพื่อที่จะฉายภาพให้เห็นถึงสังคมที่แตกแยกอย่างมาก อันเกิดจากความภักดีต่อกลุ่มเผ่าชนและความเป็นปรปักษ์กันมาตั้งแต่อดีตกาล

ความจริงก็คือว่า เมื่อนำสังคมตะวันออกกลางไปเปรียบเทียบกับส่วนอื่น ๆ ของโลกอย่างเช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก หรือแม้แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราคงต้องยอมรับว่ากลุ่มคนในตะวันออกกลางมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากกว่าที่อื่น ๆ อย่างน่าสังเกต โดยมีปัจจัยหลายประการที่สามารถอธิบายถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดังกล่าว

ประการแรก (ยกเว้นกรณีตุรกีและอิหร่าน) ประชาชนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเป็นกลุ่มคนที่พูดภาษาอาหรับทั้งหมด แม้ว่าจะมีความแตกต่างอยู่บ้างในเรื่องสำเนียงภาษาของแต่ละท้องถิ่น แต่พวกเขาก็มีมาตรฐานการเขียนภาษาอาหรับแบบเดียวกัน ภาษาที่สอนในโรงเรียนและภาษาที่ใช้ในรายการโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ก็ใช้แบบเดียวกัน

ประการที่สอง ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ที่นับถือศาสนาอิสลามมาอย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นมากกว่า 1,000 ปี จากโมร็อกโกถึงอิรักและตุรกี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามสายซุนนีย์ ในทางตรงข้าม ชาวอิหร่านส่วนใหญ่เป็นมุสลิมชีอะห์

ประการที่สาม การแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายของประชากรเป็นกลุ่มชาวเมือง กลุ่มชาวชนบท และกลุ่มเร่ร่อน ถือเป็นลักษณะสากลที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ไม่ได้มีแต่เฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางเท่านั้น

การที่ผมพยายามชี้ให้เห็นว่าภูมิภาคตะวันออกกลางค่อนข้างมีเอกภาพทางวัฒนธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะปฏิเสธความแตกต่างที่ปรากฏอยู่ เพราะแต่ละประเทศในภูมิภาคก็ประกอบขึ้นจากกลุ่มชนต่าง ๆ (หรือชนกลุ่มน้อย) ที่มีความแตกต่างจากประชากรส่วนใหญ่ในแง่ของ “เครื่องบ่งชี้” ทางวัฒนธรรมบางอย่าง เครื่องบ่งชี้ทางชาติพันธุ์หรือกลุ่มชนประกอบไปด้วยสายสัมพันธ์ทางศาสนา ภาษา สมาชิกชนเผ่า เชื้อชาติ และขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม เครื่องบ่งชี้ที่ถือว่าสำคัญมากที่สุด 2 ประการในเรื่องอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของตะวันออกกลางคือ ภาษาและศาสนา