ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 2
บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นักโบราณคดีที่ทำงานในพื้นที่ตะวันออกกลางได้ค้นพบหลักฐานมากมายที่สามารถสืบย้อนอดีตกลับไปไกลได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่การเริ่มต้นตั้งหลักปักฐานของมนุษย์ที่ย้อนกลับไปไกลได้ถึงยุค “นิโอลิทิค” (Neolithic) หรือ “ยุคหินใหม่” จากร่องรอยที่ปรากฏอย่างกระจัดกระจายตามแถบเทือกเขาในประเทศอิรัก อิหร่าน และดินแดนปาเลสไตน์ (หรืออิสราเอลในปัจจุบัน) นักโบราณคดีสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวของวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่แปรเปลี่ยนแบบแผนชีวิตของมนุษย์จากที่เคยเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนล่าสัตว์ ก็มาตั้งถิ่นฐานถาวรอยู่กันเป็นหมู่บ้าน เพาะปลูกพืชผักหลากหลาย เช่น ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และเลี้ยงปศุสัตว์
ยุคสมัยที่สำคัญในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติดังกล่าวนี้ ซึ่งสามารถย้อนกลับไปไกลได้ถึง 8,000 ปีก่อนคริสตกาล (8000 B.C.) ถูกเรียกว่าเป็นยุค “การปฏิวัติเกษตรกรรม” (Agricultural Revolution) ซึ่งเป็นยุคที่สำคัญในพัฒนาการของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ
การเปลี่ยนผ่านจากการดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์และการเก็บตุนปัจจัยยังชีพ มาเป็นการใช้วิธีผลิตอาหารเองและตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนถาวร นับเป็นภาพฉากก่อนหน้าที่ระยะต่อมาได้มีวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมสูงขึ้นไปอีกระดับ นั่นคือการเริ่มต้นของ “อารยธรรม” (Civilization) อันหมายถึง การตั้งถิ่นฐานชุมชนเมือง มีระบบการเขียน สถาปัตยกรรมแผ่นหิน การค้าระยะไกล มีระเบียบทางสังคมที่ซับซ้อน และระบบรวมศูนย์อำนาจภายใต้การกำกับของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการปกครองโดยกษัตริย์ในฐานะสมมุติเทพ การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้ ถูกอธิบายอย่างสมบูรณ์ในบันทึกทางโบราณคดีของแต่ละอารยธรรมที่สืบทอดส่งต่อกันมาในแต่ละยุคแต่ละสมัยของภูมิภาคตะวันออกกลาง
นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้ว่าจะมีการรุกรานหลายครั้งจากอาณาจักรโรมัน อาหรับ ออตโตมาน และอังกฤษ แต่อียิปต์ก็ยังคงเป็นประเทศหนึ่งเดียวที่ประชาชนมีความรู้สึกร่วมของการมีอัตลักษณ์ที่พิเศษเฉพาะของตนเองเสมอมา
ส่วนอิหร่านหรือที่รู้จักกันในชื่อเดิมว่า “เปอร์เซีย” เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองมายาวนาน ชาวอิหร่านพูดภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียน หรือภาษา “ฟาร์ซี” (Farsi) นับเป็นกลุ่มชนที่สืบทอดอารยธรรมและมหาจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ก่อนหน้าที่จะถูกพิชิตโดยมุสลิมอาหรับในศตวรรษที่ 7 นั้น อิหร่านเคยเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรซัซซานิด (Sasanid Empire) ซึ่งเป็นราชวงศ์เปอร์เซียที่รับเอาศาสนาโซโรอัสเตอร์มาเป็นศาสนาประจำชาติ นักวิชาการบางคนเชื่อว่าศาสนาโซโรอัสเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในศาสนาแรก ๆ ของโลกและเป็นศาสนาที่มีมาก่อนศาสนายูดาห์เสียอีก ศาสดาของโซโรอัสเตอร์ได้ประกาศถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้าและมารร้ายในโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้มนุษยชาติยึดมั่นในพระเจ้าโดยการต่อสู้กับมารร้าย
ถึงแม้ว่าชาวเปอร์เซียส่วนใหญ่จะหันไปนับถือศาสนาอิสลามหลังการมาถึงของมุสลิมอาหรับ แต่ก็ยังมีผู้นับถือศาสนาโซโรอัสเตอร์อยู่ในอิหร่าน แม้ว่าจะมีเหลืออยู่จำนวนไม่มากนักก็ตาม
นับตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ ผู้คนในตะวันออกกลางนั้น ได้ดำเนินวิถีชีวิตใน 3 รูปแบบที่แตกต่าง แต่มีความเชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้งนี้ก็เพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่ท้าทายจากภูมิอากาศ ลักษณะภูมิประเทศ และความจำกัดของทรัพยากรน้ำ วิถีชีวิต 3 รูปแบบดังกล่าวคือ สังคมเมือง สังคมชนบท และพวกเร่ร่อน (nomadic) การดำรงอยู่เคียงคู่กันแบบผสมผสานระหว่างลักษณะความเป็นเมือง ชนบท และพวกเร่ร่อน ถือเป็นลักษณะพิเศษที่หาดูได้ยากของตะวันออกกลางในฐานะที่เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม
ตะวันออกกลางนับเป็นดินแดนที่มีเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในโลก อาทิ ดามัสกัส (Damascus) อิสตันบูล (Istanbul) ไคโร (Cairo) ฯลฯ เมืองต่าง ๆ เหล่านี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของวิถีชีวิตทางการเมือง เศรษฐกิจ ศาสนา และวิชาการ ซึ่งบดบังภาพฉากของวิถีชีวิตชนบทของผู้คนในภูมิภาค ทั้ง ๆ ที่ ในความเป็นจริง ประชากรส่วนใหญ่ในอดีตของตะวันออกกลางจะอยู่ตามชนบทและดำรงชีพด้วยการทำไร่ไถ่นา ทั้งที่เป็นเจ้าของที่ดินเองและเป็นผู้เช่าที่ดินในการเพาะปลูก
ในช่วง ค.ศ. 1900 มีการประมาณกันว่า ประชากรของตะวันออกกลางที่อาศัยอยู่ในเมืองทั้งหมดมีน้อยกว่าร้อยละ 10 แต่ใน ค.ศ. 1970 ตัวเลขของประชากรเมืองก็สูงขึ้นไปถึงร้อยละ 40 ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับนิยามของคำว่า “นคร” (city) หรือ “การตั้งถิ่นฐานในเมือง” (urban settlement) แต่นักวิชาการก็เห็นพ้องต้องกันว่า ในภาพรวมทั้งหมด ผู้อยู่อาศัยในตะวันออกกลางมากกว่าครึ่งเล็กน้อยในปัจจุบันอาศัยอยู่ตามเมืองศูนย์กลางที่มีประชากรมากกว่า 20,000 คน
มีการคาดคะเนกันว่า ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 นี้ ตะวันออกกลางจะมีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองสูงถึงร้อยละ 70 เมืองที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลางขณะนี้อย่างกรุงไคโร มีประชากรที่อยู่อาศัยมากกว่า 12 ล้านคน ปัจจุบันมีเมืองประมาณ 30 เมืองในตะวันออกกลางที่มีประชากรมากกว่า 5 แสนคน
การเพิ่มขึ้นของประชากรในเมืองอย่างรวดเร็วดังกล่าว (ส่วนใหญ่เกิดจากการย้ายถิ่นของผู้คนจากชนบท) ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย การจ้างงาน การศึกษา และการบริหารจัดการต่าง ๆ เนื่องจากประชากรของภูมิภาคตะวันออกกลางส่วนใหญ่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่นครและเมืองต่าง ๆ (ซึ่งเป็นย่านที่แออัดไปด้วยคนยากจนและเป็นที่ที่ชุมชนสลัมได้เติบโตขึ้น) จะกลายเป็นแหล่งแพร่ขยายของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและขบวนการต่อต้านรัฐในประเทศต่าง ๆ ของตะวันออกกลาง
ตอนต่อไปจะเป็นเรื่องวิถีของชนเผ่าเร่ร่อนครับ