นิยามตะวันออกกลางศึกษา
คำว่า “ตะวันออกกลาง” (Middle East) เป็นที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบัน อันหมายถึงดินแดนที่ขยายยื่นออกไปจากมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตกจนถึงดินแดนบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถานทางทิศตะวันออก ซึ่งมีความยาวกว่า 5,600 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยประชากรมากกว่า 400 ล้านคน
คำว่า ตะวันออกกลาง เป็นคำจำกัดความภูมิภาคอย่างกว้าง ๆ จึงไม่มีการกำหนดขอบเขตพรมแดนของอาณาบริเวณของภูมิภาคนี้ไว้อย่างเจาะจง แต่ในบทความนี้ผมขอใช้อาณาบริเวณตะวันออกกลางที่ครอบคลุมพื้นที่ประเทศต่าง ๆ อย่าง บาห์เรน อียิปต์ อิหร่าน ตุรกี อิรัก อิสราเอล จอร์แดน คูเวต เลบานอน โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยเมน และดินแดนปาเลสไตน์ (เวสต์แบงก์และฉนวนกาซ่า)
นอกจากนั้น ตะวันออกกลางยังรวมถึงกลุ่มประเทศมัฆริบ (Maghreb หรือ แอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแอลจีเรีย ลิเบีย โมร็อกโก และตูนีเซีย) ที่มักถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตะวันออกกลางด้วย เพราะประเทศเหล่านี้มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเชื่อมโยงใกล้ชิดกับตะวันออกกลางมาก ซึ่งก็รวมทั้ง ซูดาน มอริเตเนีย และโซมาเลีย ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตุรกีและไซปรัสนั้น แม้ว่าโดยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้วจะตั้งอยู่ภายในภูมิภาค แต่ทั้ง 2 ชาติก็มักจัดให้ประเทศตนเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปมากกว่าภูมิภาคตะวันออกกลางยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น “เอเชียตะวันตก” (West Asia) ซึ่งเป็นคำจำกัดความที่ใช้กันอยู่ในอินเดียทั้งในระดับราชการและสื่อต่าง ๆ
คำว่า “โลกอาหรับ” (Arab world) ซึ่งใช้กันในบางเรื่องนั้นก็ไม่สามารถสื่อให้ครอบคลุมถึงประชาชนที่ไม่ใช่เชื้อสายอาหรับที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอาไว้ด้วย และคำว่า “ตะวันออกกลาง-แอฟริกาเหนือ (Middle East-North Africa หรือ MENA)” บางครั้งก็ใช้เพื่อรวมเขตพื้นที่จากโมร็อกโกไปจนถึงอิหร่าน ซึ่งเป็นคำที่นักการทูตของกลุ่มจี-8 ใช้ในการกล่าวถึง “มหาอาณาเขตตะวันออกกลาง” (Greater Middle East) ซึ่งรวมประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มสันนิบาตอาหรับ (Arab League) ที่รวมเอาบรรดาชาติสมาชิกจากแอฟริกาเข้าไว้ด้วย
นักวิชาการฝรั่งเศสมักเรียกดินแดนแอฟริกาเหนือที่เคยตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส (โมร็อกโก แอลจีเรีย และตูนีเซีย) เป็นภาษาอาหรับว่า “มัฆริบ” (Maghreb) และเรียกอียิปต์กับประเทศอาหรับที่เหลือว่า “ตะวันออกใกล้” (Near East)
คำว่า “มัฆริบ” มาจากคำเต็มในภาษาอาหรับว่า “bilad al-Maghreb” แปลว่า “ประเทศที่อยู่ทางตะวันตก” หรือ “ดินแดนอัสดงคต” คำนี้เป็นคำเดิมที่อาหรับใช้เพื่อแยกดินแดนอาหรับส่วนนี้ออกจากดินแดนอาหรับที่อยู่ทางตะวันออก ซึ่งเรียกว่า “bilad al-Mashreq” หมายถึง “ประเทศทางตะวันออก” หรือ “ดินแดนอาทิตย์อุทัย”
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคำว่า “ตะวันออกกลาง” ก็เป็นที่ยอมรับกันในหมู่ประชาชนทั่วภูมิภาคในฐานะที่เป็นที่ตั้งของพวกเขาในแผนที่โลก เช่นเดียวกับคำว่า “ยุโรป” “เอเชียกลาง” และ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชนของภูมิภาคเหล่านั้น คำเรียกต่าง ๆ ของคำว่า “ตะวันออกกลาง” ดังกล่าว ก็ล้วนสื่อความหมายว่า ดินแดนส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย ซึ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว ก็นับเป็นผืนแผ่นดินที่ต่อเนื่องกันไป คำว่า “ตะวันออก” แสดงว่าในดินแดนแถบนี้มีความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง ไปจาก “ตะวันตก” ซึ่งที่จริงแล้วก็เป็นพื้นดินที่เชื่อมต่อกันไปโดยไม่มีผืนน้ำมาแบ่งกั้นไว้แบบทวีปอเมริกากับยุโรป
ภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างอย่างน้อย 4 วัฒนธรรมคือ วัฒนธรรมอาหรับ เติร์ก เปอร์เซีย และยิว สำหรับวัฒนธรรมอาหรับ เติร์ก และอิหร่าน นับเป็น 3 วัฒนธรรมหลักที่สืบทอดอาณาจักรอิสลามอันยิ่งใหญ่ ซึ่งล้วนมีศูนย์กลางอยู่ในภูมิภาคตะวันออกกลางทั้งสิ้น อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของ 3 วัฒนธรรมที่แตกต่างภายในโครงสร้างอารยธรรมอิสลามของโลก
วัฒนธรรมที่ปรากฏขึ้นล่าสุดและยืนหยัดอยู่ได้นานที่สุดเมื่อเทียบกับวัฒนธรรมทั้งหมดเหล่านี้คือ อาณาจักรออตโตมาน (Ottoman Empire) ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ปกครองเกือบทั่วทั้งหมดในตะวันออกกลาง ตลอดรวมถึงบางส่วนของยุโรปตะวันออกเป็นเวลาเกือบ 500 ปี จนกระทั่งเกิดการล่มสลายและการแตกย่อยออกไปของดินแดนต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กลายมาเป็นรัฐตุรกีสมัยใหม่ และรัฐ-ชาติส่วนใหญ่ของอาหรับอย่างที่เห็นในปัจจุบัน
หากมองจากแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ตะวันออกกลางเป็นที่รู้จักในนามของ “อู่แห่งอารยธรรม” (cradle of civilization) แม่น้ำ 2 สายหลักของตะวันออกกลาง ทั้งแม่น้ำไนล์ในอียิปต์หรือไทกริส-ยูเฟรติสในอิรัก ล้วนเคยเป็นที่ตั้งของอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (อาทิ อารยธรรมอียิปต์โบราณ (Egyptian) อารยธรรมสุเมอเรียน (Sumerian) อารยธรรมบาบิโลเนียน (Babylonian) และอารยธรรมอัสสิเรียน (Assyrian) ) ซึ่งเป็นที่ที่วิถีชีวิตแบบเมืองและแบบแผนการใช้อำนาจรวมศูนย์ขององค์กรทางการเมืองได้พัฒนาขึ้น
นอกจากนี้ ตะวันออกกลางยังเป็นดินแดนแหล่งกำเนิดของ 3 ศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว (monotheistic religions) คือศาสนายูดาห์ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม แม้ว่าทั้ง 3 ศาสนาดังกล่าวจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกัน ทั้ง 3 ศาสนาล้วนเป็นศาสนาที่แสดงบทบาทสำคัญในตะวันออกกลาง และเป็นศาสนาที่ประชาชนคนตะวันออกกลางส่วนใหญ่ใช้เป็นวิถีทางในการดำเนินชีวิตประจำวันตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
โดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์