74 ปีโศกนาฏกรรมนักบะห์: ความจริงทางประวัติศาสตร์และภาระผูกพันด้านมนุษยธรรม
โดย ดร. ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา
“พวกเราคงลืมไปแล้วว่า เรามิได้เข้ามาในดินแดนที่เวิ้งว้างว่างเปล่า แล้วจับจองสืบทอดมัน แต่พวกเราเข้ามาพิชิตดินแดนประเทศที่มีกลุ่มคนอาศัยอยู่ก่อนหน้าแล้ว”
(คำกล่าวของ Moshe Sharett รองนายกรัฐมนตรีอิสราเอล 1953-1955)
วันที่ 15 พฤษภาคม ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งท่ามกลางสถานการณ์ในปาเลสไตน์ที่ร้อนระอุอยู่ตลอดเวลา วันสำคัญที่ว่าคือการรำลึกถึง “วันแห่งความหายนะ” หรือ “นักบะห์เดย์”
.
ย้อนกลับไปเมื่อ 74 ปีที่แล้วในปี ค.ศ. 1948 สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งแรกก่อผลให้ชาวปาเลสไตน์ต้องถูกขับไล่ให้หนีออกจากแผ่นดินเกิดประมาณ 720,000-750,000 คน กลายเป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยที่ทุกวันนี้ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
.

.
ชาวปาเลสไตน์เรียกเหตุการณ์นี้ในภาษาอาหรับว่า “นักบะห์” (NAKBA) หรือหายนะครั้งใหญ่ เป็นปัญหาผู้ลี้ภัยที่ต่อมากลายเป็นหนึ่งในอุปสรรคขัดขวางกระบวนการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ตลอดมา
.
ปาเลสไตน์และอิสราเอลต่างจดจำวิกฤติผู้ลี้ภัยครั้งนั้นในมุมที่ต่างกัน ปาเลสไตน์มองว่า ปัจจัยอันนำไปสู่วิกฤตินี้เพราะการถูกบีบบังคับขับไล่ผ่านการสร้างความหวาดกลัว การยึดครองที่ดิน และการทำลายบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ที่กระทำอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มติดอาวุธชาวยิว
.
ขณะที่อิสราเอลพยายามสื่อสารให้โลกเข้าใจว่า มันเป็นผลอันสืบเนื่องมาจากความพ่ายแพ้ในสงครามของชาติอาหรับ และชาวปาเลสไตน์สมัครใจออกไปจากบ้านเกิดเอง
.
หลังสงครามปี 1948 ชาวยิวขณะนั้น ซึ่งมีประชากรแค่ร้อยละ 30 และถือครองที่ดินเพียงแค่ร้อยละ 7 สามารถจัดตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นมาได้โดยการยึดครองดินแดนเดิมของชาวปาเลสไตน์ถึงร้อยละ 78 ที่เหลืออีกร้อยละ 22 (ดินแดนตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน (West Bank) กาซ่า และเยรูซาเล็มตะวันออก) ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ต่อไป
.
แต่พอเกิดสงครามในปี 1967 ซึ่งเป็นสงครามที่อิสราเอลชนะฝ่ายอาหรับอย่างรวดเร็วภายใน 6 วัน อิสราเอลก็ยึดครองดินแดนต่างๆ ของชาติอาหรับ รวมถึงดินแดนที่เหลืออีกร้อยละ 22 ของชาวปาเลสไตน์ด้วย ก่อให้เกิดคลื่นผู้อพยพลี้ภัยของชาวปาเลสไตน์อีกระลอก
.

.
วันนี้ ชาวปาเลสไตน์แทบทั้งหมดจึงกลายเป็นคนไร้รัฐ หากไม่เป็นผู้ลี้ภัยที่กระจัดกระจายอยู่ภายนอกดินแดนบ้านเกิดของตนเอง ก็เป็นคนพลัดถิ่นในบ้านเมืองที่เคยเป็นของตนเอง
.
ตามตัวเลขปี 2015 ขององค์การสหประชาชาติ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่มีการลงทะเบียนเอาไว้มีอยู่มากถึง 5,149,742 คน แต่ถ้ารวมเอาคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนด้วย เขาสรุปตัวเลขจากการสำรวจออกมาคร่าวๆ ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านคน โดยอาจแยกประเภทให้เห็นกันชัดๆ ดังนี้
.
- กลุ่มแรก คือ ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ที่พลัดถิ่นมาตั้งแต่ปี 1948 (รวมถึงลูกหลานที่เกิดตามมาภายหลัง) และลงทะเบียนกับสหประชาชาติเพื่อขอความช่วยเหลือ มีอยู่ประมาณ 5 ล้านคน
- กลุ่มที่ 2 คือ ผู้พลัดถิ่นจากสงครามปี 1948 เหมือนกัน แต่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ มีอยู่ประมาณ 1 ล้านคน
- กลุ่มที่ 3 คือ ผู้ลี้ภัยจากสงครามปี 1967 มีอยู่ด้วยกันทั้งหมดเกือบล้านคน
- กลุ่มที่ 4 คือ ผู้พลัดถิ่นในดินแดนของตนเองจากสงครามปี 1948 มีอยู่ 335,000 คน และ
- กลุ่มสุดท้าย คือ ผู้พลัดถิ่นในดินแดนของตนเองจากสงครามปี 1967 มีอยู่ 129,000 คน

.
หากพิจารณาจากกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ลี้ภัยโดยทั่วไปมีสิทธิที่จะกลับไปยังถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง ได้รับทรัพย์สินที่เคยเป็นเจ้าของกลับคืน และได้ค่าชดเชยความเสียหาย
.
สมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติได้วางกรอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ไว้ในมติที่ 194 (III) โดยระบุรายละเอียดในเรื่องการส่งผู้ลี้ภัยกลับสู่ถิ่นเดิมหากพวกเขาประสงค์ และอยู่ร่วมกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ หรืออาจใช้วิธีจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่ผู้ลี้ภัยไม่ต้องการกลับ
.
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1974 องค์การสหประชาชาติได้มีมติที่ 236 ออกมาใหม่ อธิบายสิทธิในการกลับสู่ถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยว่าเป็น ‘สิทธิที่แบ่งแยกมิได้’ (Inalienable right)
.
ขณะเดียวกัน เพื่อดำเนินงานตามมติที่ 302 (IV) สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจึงได้จัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า United Nation Relief and Works Agency (UNRWA) ขึ้นมา ปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือดูแลผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
.
UNRWA ให้นิยามผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ว่า คือบุคคลที่อาศัยอยู่ในปาเลสไตน์ก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 อย่างน้อย 2 ปี และเป็นบุคคลที่ต้องสูญเสียบ้านเรือนและวิถีการดำรงชีวิตอันเป็นผลมาจากสงครามครั้งนั้น
.
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์กว่า 7 ล้านคน ต่างเรียกร้องสิทธิการกลับคืนถิ่นของตนเองตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งกฎหมายด้านมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนที่ให้ความชอบธรรมในเรื่องนี้เอาไว้
.
ขณะที่มติ 194 ของสหประชาชาติในปี 1948 ดังที่ระบุไว้ข้างต้น ก็รับรองสิทธิของปาเลสไตน์ให้สามารถกลับคืนถิ่นหรือได้รับการชดเชยค่าเสียหาย แต่อิสราเอลก็ยืนกรานปฏิเสธข้อเรียกร้องของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์มาตลอด โดยให้เหตุผลไว้ 3 ประการคือ
.
1. ในอิสราเอลมีพื้นที่คับแคบอยู่แล้ว จึงไม่มีที่ว่างสำหรับผู้อพยพชาวปาเลสไตน์จำนวนมาก
2. การกลับมาของผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์จะนำไปสู่ภัยคุกคามด้านความมั่นคงของอิสราเอล อันจะนำไปสู่ความขัดแย้ง
3. หากผู้ลี้ภัยได้กลับมาก็จะทำให้อิสราเอลไม่สามารถดำรงอยู่เป็นรัฐยิวได้ (เพราะคนส่วนใหญ่จะเป็นชาวอาหรับปาเลสไตน์ในทันที)
.
ด้วยเหตุนี้ เวลามีการเจรจาสันติภาพระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลขึ้นเมื่อใด ปัญหาผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ก็จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ไม่รู้จะแก้ปัญหากันอย่างไร
.
แต่เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของอิสราเอลในข้อแรก แล้วย้อนกลับมาดูผลการวิจัยก็จะพบว่า
.
ประชากรชาวยิวกว่าร้อยละ 80 ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยในดินแดนที่เป็นของปาเลสไตน์เดิมเพียงแค่ร้อยละ15 ซึ่งหมายความว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นบ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกรื้อถอนไปยังคงเป็นที่ดินที่ไร้ผู้อยู่อาศัย
.
ด้วยเหตุนี้ การอ้างเรื่องไม่มีพื้นที่เพียงพอจึงไม่สมเหตุผล
.
ในประเด็นข้อห่วงกังวลเรื่องความมั่นคงนั้น ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ก็ได้ให้คำมั่นว่า การกลับมาของพวกเขาไม่ได้หมายถึงการขับไล่ชาวยิวออกจากพื้นที่ที่อยู่ปัจจุบัน แต่การกลับมาของพวกเขาจะตั้งอยู่บนหลักการของความเท่าเทียมและกรอบสิทธิมนุษยชน
.
ส่วนข้ออ้างสุดท้ายนั้น ทำให้การอ้างของอิสราเอลว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยหนึ่งเดียวในตะวันออกกลางไม่เป็นความจริง เพราะเป็นประเทศที่มีพื้นที่สาธารณะไว้เฉพาะสำหรับชาวยิวเท่านั้น
.
อย่างไรก็ตาม ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ได้ตกระกำลำบากมาเป็นเวลา 74 ปีแล้ว พวกเขาอยู่แต่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย (มีเฉพาะบางส่วนที่ได้รับสัญชาติจากประเทศปลายทาง เช่น จอร์แดน)
.
ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มองไม่เห็นโอกาสและอนาคต และต่างรอคอยวันที่จะได้กลับไปถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง
.

.
ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 15 พฤษภาคมของทุกปี จึงเป็นวันที่ชาวปาเลสไตน์ทั่วโลกต่างรำลึกถึงความหายนะหรือ ‘นักบะห์’ ของชาวปาเลสไตน์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ที่เน้นแนวทางสันติวิธี
.
เป้าหมายคือ การเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิด เรียกร้องความยุติธรรมจากการที่ต้องถูกขับไล่และถูกกระทำ และเรียกร้องอิสรภาพที่ขาดหายไปนานให้กลับคืนมา อันถือเป็นภาระผูกพันด้านมนุษยธรรมที่มนุษยชาติผู้รักความเป็นธรรมควรมีส่วนร่วมผลักดันให้เป้าหมายของพวกเขาบรรลุความสำเร็จ
.
ในวาระครบรอบ 74 ปี โศกนาฏกรรมนักบะห์ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสภาเครื่อข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี และมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
.
จะจัดงานเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 74 ปี โศกนาฏกรรมนักบะห์: ความจริงทางประวัติศาสตร์และภาระผูกพันด้านมนุษยธรรม (74 Years after the Nakba: Historical Truth and Humanitarian) ในวันศุกร์ที่ ที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 – 16.00 น. ณ ห้อง VIP มูลนิธิศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
.

.
ภายในงานพบกับปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “บทเรียนจากโศกนาฏกรรมนักบะห์” โดย ศาสตราจารย์ พลโท ดร. สมชาย วิรุฬหผล
.
ร่วมเสวนาโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาทิตย์ ทองอินทร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาโนชญ์ อารีย์, อาจารย์ อาลี อารีฟ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มูฮัมหมัดอิลยาส หญ้าปรัง (ดำเนินรายการ)
.
ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ได้ที่ https://bit.ly/3w10WJw
.
และสามารถติดตามการถ่ายทอดสดงงานเสวนา ได้ที่ Facebook Live: ศูนย์มุสลิมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-Muslimcenterchula และ 151 yamaah ฅนสองโลก