ชนชาวเติร์กกับพลังและโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์โลก ตอนที่ 8
เขียนโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ชนเติร์ก (Turkic peoples) นับเป็นชนโบราณ พบเรื่องราวของชนกลุ่มนี้ตั้งแต่ 2,200 ปีก่อนคริสตกาลโดยพบครั้งแรกทางเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเยื้องไปทางไซบีเรีย ชนกลุ่มนี้อพยพโยกย้ายไปทางตะวันตกปะปนกับชนดั้งเดิมก่อนกระจายไปตลอดพื้นที่เอเชียกลางและเอเชียเหนือ การจำแนกว่าเป็นเติร์กแท้หรือเติร์กผสมทำได้ไม่ง่าย การกระจายตัวของชาวเติร์กเข้าไปในชนกลุ่มอื่นนำเอาภาษาพูด ปรับปรุงภาษาเขียนทำให้เกิดกลุ่มภาษาเติร์กแตกต่างหลากหลายกว่า 30 กลุ่ม การจำแนกกลุ่มชนทำได้จากภาษา วัฒนธรรมและพันธุกรรม แยกแยะเป็นกลุ่มชนชาวเติร์กมากมาย มีทั้งเติร์กแท้และเติร์กผสม การจำแนกจึงไม่ง่ายอย่างที่บอก
ชนชาวเติร์กก่อนการมาของอิสลามนับถือศาสนาแตกต่างหลากหลาย มีทั้งยิว พุทธ คริสต์ และศาสนาเก่าแก่ดั้งเดิมอีกหลายกลุ่ม จะว่าชาวเติร์กทั้งหมดคือชนเร่ร่อนก็คงไม่ถูก ในอดีตเนิ่นนานชนกลุ่มนี้เคยสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นต่างกรรมต่างวาระจำนวนไม่น้อย เก่าแก่ที่สุดคงเป็นเซียงหนู ถึงศตวรรษที่ 6-8 ยังพบหลักฐานของอาณาจักรเติร์กโบราณคือก็อกเติร์ก (GokTurk) หลายกลุ่มทางแถบเอเชียเหนือ กลุ่มใหญ่เห็นจะเป็นอาณาจักรคาซาร์ (Khazar) ซึ่งเป็นเติร์กยิวสร้างอาณาจักรอยู่ทางเหนือของทะเลสาปแคสเปียนช่วงศตวรรษที่ 7-11 รัฐข่านอุยกูร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนช่วงศตวรรษที่ 8-9 เป็นเติร์กพุทธ การเป็นอาณาจักรของเติร์กดำรงอยู่ไม่นาน ไม่จิรังยั่งยืนสักเท่าไหร่ ทั้งไม่ได้สร้างอารยธรรมอะไรโดดเด่นเป็นเพียงวัฒนธรรมชนเผ่า อาณาจักรเมื่อเกิดแล้วก่อสงครามระหว่างกันเองบ้าง กับอาณาจักรเดิมบ้าง หรือแม้กระทั่งกับอาณาจักรจีนเป็นบางครั้ง
นับถึงศตวรรษที่ 7 เมื่ออิสลามเริ่มขึ้นในอาระเบีย เวลานั้นชนชาวเติร์กกระจายไปทั่วเอเชียเหนือ เอเชียกลางไล่ไปจนถึงคาบสมุทรบอลข่าน มีชนชาวเติร์กหลายเผ่าหลายสำเนียงภาษาพูดกระจัดกระจายอยู่เต็มไปหมด เพียงแต่ชนอาหรับยังไม่มีโอกาสพบปะวิสาสะกับชนชาวเติร์กในเวลานั้น กว่าชนสองกลุ่มจะสัมพันธ์กันกระทั่งชนชาวเติร์กบางส่วนในเอเชียกลางเริ่มรับอิสลามก็ถึงศตวรรษที่ 8 เข้าไปแล้ว การรับอิสลามของเติร์กในเอเชียกลางเกิดจากการเผยแผ่อิสลามโดยชนอาหรับและเปอร์เซีย เป็นอิสลามในเบื้องต้นโดยเติร์กกลุ่มใหญ่ยังคงยึดถือศาสนาเดิมอยู่ เติร์กปัจจุบันเกือบทั้งหมดแม้เป็นมุสลิมทว่าเติร์กในระยะแรกจึงยึดถือในความเชื่ออื่น
การแผ่ขยายกระจัดกระจายของกลุ่มชนเติร์กไปทั่วดินแดนเอเชียกลาง จีนตอนเหนือจนถึงแคสเปียนและบอลข่าน รวมถึงดินแดนของจักรวรรดิเปอร์เซียมีผลทำให้ชนชาวเติร์กปะปนเข้ากับชนในท้องถิ่นเดิมจนบางครั้งแยกไม่ออกว่าเป็นเติร์กหรือจีนหรือมองโกลหรือเปอร์เซีย อาณาจักรอุยกูร์ช่วงศตวรรษที่ 7-8 เป็นเติร์กแท้แต่ชนชั้นปกครองกลับใช้ภาษาจีนเป็นภาษาพูด ชนชาวเติร์กในอาณาจักรซัสซานิดของเปอร์เซียเองได้รับอิทธิพลของเปอร์เซียกระทั่งกลายไปเป็นเปอร์เซียค่อนข้างมาก อาณาจักรกัสนาวิด (Ghaznavid) ช่วง ค.ศ.977-1186 ที่นักประวัติศาสตร์นับเป็นราชวงศ์เปอร์เซียทว่าต้นตอกลับเป็นเติร์กแท้ ความผสมผสานทางวัฒนธรรม การแต่งงานข้ามชนเผ่าจึงเกิดขึ้นมานมนานกาเลแล้ว