การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 5

การล่มสลายของอาณาจักรออตโตมัน ตอนที่ 5

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตอนที่แล้วได้อธิบายถึงปัจจัยภายนอกที่ทำให้ออตโตมันเสื่อมถอย โดยเน้นไปที่ประเด็นการเมืองเป็นลำดับแรก วันนี้ก็เลยจะนำเสนอประเด็นเชิงเศรษฐกิจต่อเนื่องกันไปเลยครับ โดยจะแบ่งเป็น 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรกคือ จักรวรรดิออตโตมันเริ่มเสื่อมสลายลงในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคที่ระบบเศรษฐกิจของจักรวรรดิออตโตมันตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเมื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก

ตอนที่เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศยุโรปที่เพิ่งผ่านการปฏิวัติทางการค้ามาในศตวรรษที่ 16 ได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างระบบธนาคาร ระบบสินเชื่อ และการร่วมหุ้นในบริษัท ซึ่งสถาบันการค้าเหล่านี้เป็นรากฐานที่พัฒนามาเป็นระบบเศรษฐกิจโลกในยุคสมัยใหม่

นอกจากนี้ ประเทศต่างๆในยุโรปยังได้คิดค้นระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ระบบเศรษฐกิจแบบพาณิชย์นิยม (Mercantilism) ที่มุ่งทำการค้าเพื่อให้มีดุลการค้าเกินดุล สามารถสะสมทองคำ และทำให้ประเทศมั่งคั่ง

หน้าที่ของรัฐในระบบเศรษฐกิจใหม่นี้คือต้องหามาตรการและนโยบายเพื่อช่วยเหลือนักธุรกิจของตนเองเพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างความได้เปรียบในการค้า เช่น กีดกันการนำเข้า ให้ความช่วยเหลือผู้ส่งออกโดยการตั้งกองเรือพาณิชย์และช่วยเจรจาต่อรองกับประเทศคู่ค้า หรือใช้อำนาจทางการทหารเป็นเครื่องช่วยในการต่อรอง เป็นต้น

ระบบพาณิชย์นิยมปรากฏให้เห็นในตะวันออกกลางเมื่ออังกฤษเข้าครอบครองอียิปต์ในช่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษใช้อียิปต์เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้าย เมื่อสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นในอเมริกาทำให้การผลิตผ้าฝ้ายราคาถูกที่ผลิตจากทางใต้ของอเมริกาหยุดชะงัก

ดังนั้น หลังจาก ค.ศ. 1882 เป็นต้นมา อังกฤษจึงตั้งโครงการสร้างคลองชลประทานเพื่อการปลูกฝ้าย และตั้งโรงงานทอผ้าในอียิปต์ อังกฤษกลายเป็นผู้ผูกขาด การปลูก การผลิต และการขายฝ้ายในอียิปต์ ในขณะที่คนอียิปต์ได้ค่าตอบแทนเป็นแรงงานราคาถูก

อียิปต์เสียโอกาสทางการค้าฝิ่นที่เคยเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศ และขาดรายได้ไปพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆ เนื่องจากอังกฤษนำรายได้ทั้งหมดจากการส่งออกฝ้ายไปลงทุนในธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ บริษัทที่ดินและโครงการสัมปทานของตนเอง

ภาวะเช่นนี้สอดคล้องกับทฤษฎีระบบโลก (World System Theory) ที่อธิบายว่า มหาอำนาจต่างๆ ในยุโรป ทั้งอังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นประเทศศูนย์กลาง (Core) ในระบบเศรษฐกิจโลก ในขณะที่จักรวรรดิออตโตมันได้ก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกในฐานะประเทศปริมณฑล (Periphery) ที่ถูกประเทศศูนย์กลางที่พัฒนาแล้วเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ถูกกีดกันทางการค้า และไม่สามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มที่

ประการที่ 2 คือ การให้สิทธิพิเศษทางการค้าและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งสุลต่านออตโตมันได้มอบให้แก่พ่อค้าชาวยุโรปสามารถทำการค้าในอาณาจักรได้อย่างเสรี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจให้กับอาณาจักรออตโตมันเป็นอย่างมาก นักวิชาการหลายคนต่างเห็นว่านโยบายนี้ทำให้จักรวรรดิออตโตมันเสียเปรียบในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมต่อชาติมหาอำนาจยุโรป

สิทธิพิเศษทางการค้าที่รัฐบาลออตโตมันมอบให้ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1536 ได้เป็นแบบแผนของการให้สิทธิพิเศษแก่ชาติอื่นๆ ในเวลาต่อมา นโยบายนี้เริ่มส่งผลเสียต่ออาณาจักรออตโตมันในช่วงศตวรรษที่ 18 หลังประเทศยุโรปเริ่มเจริญรุ่งเรืองทางทหารและการค้าเหนือออตโตมัน เช่น การคุกคามจากประเทศยุโรป ประกอบกับวิกฤติการเมืองภายใน ได้ทำให้สุลต่านมะห์มูดที่ 2 ตัดสินใจลงนามในสนธิสัญญาบัลต้า – ลิแมน (Balta-Liman Treaty) มอบสิทธิพิเศษทางการค้าแก่อังกฤษ ใน ค.ศ. 1831 เพื่อให้อังกฤษช่วยรัฐบาลปราบปรามการแข็งข้อของอียิปต์และการรุกรานจากรัสเซียทางใต้

อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญาดังกล่าวทำให้รัฐบาลออตโตมันเสียผลประโยชน์ทางการค้าเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องกำหนดภาษีนำเข้าจากยุโรป 3 % และล้มเลิกการผูกขาดทางการค้าทั้งหมดในจักรวรรดิ ด้วยเหตุนี้ อาจพูดได้ว่าการมอบสิทธิพิเศษที่ทำให้ประเทศเสียดุลการค้าให้กับอังกฤษเหล่านี้ ได้ทำให้จักรวรรดิออตโตมันเป็นฝ่ายเสียเปรียบประเทศยุโรปในเวทีการเมืองระหว่างประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

การกู้ยืมเงินจากต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าทำให้รัฐบาลออตโตมันเริ่มเป็นหนี้กับประเทศยุโรป รัฐบาลกลางเริ่มกู้ยืมเงินจากอังกฤษครั้งแรกใน ค.ศ. 1854 เป็นจำนวนประมาณ 3 ล้านปอนด์ อัตราดอกเบี้ย 6 % ต่อปี หลังจากนั้นรัฐบาลออตโตมันก็เริ่มกู้เงินมาเรื่อยๆ ซึ่งในบางครั้งเงินที่กู้มาก็ถูกเอาไปใช้ลงทุนในโครงการที่ฟุ่มเฟือย ไม่สร้างผลประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนทั่วไป เช่น การก่อสร้างพระราชวังใหม่หลายแห่งเลียบช่องแคบบอสฟอรัส เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ออตโตมันจึงตกอยู่ในวงจรกู้ยืมเงินและใช้หนี้กับต่างชาติอย่างไม่จบสิ้น

เมื่อรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสเห็นว่าออตโตมันไม่สามารถชำระหนี้ได้ทัน ทั้งสองจึงจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อควบคุมการใช้จ่ายและบัญชีการคลังของรัฐ ในปี ค.ศ. 1875 อาณาจักรออตโตมันจึงประสบภาวะล้มละลาย เป็นเหตุให้เจ้าหนี้อย่าง อังกฤษ และฝรั่งเศสจัดตั้ง “หน่วยงานบริหารจัดการหนี้สาธารณะของออตโตมัน” (The Ottoman Public Debt Administration) เพื่อเรียกเก็บภาษีจากรายได้หลักของอาณาจักรเอามาใช้หนี้โดยเฉพาะ

หน่วยงานบริหารจัดการหนี้สาธารณะของออตโตมัน (The Ottoman Public Debt Administration)

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จักรวรรดิออตโตมันจึงเสมือนเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจยุโรป เนื่องจากต้องเสียอำนาจอธิปไตยทางการเงิน และการควบคุมทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเหล่านั้น ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายทางทหารที่เพิ่มขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็ทำให้ออตโตมันขาดดุลการค้าและต้องกู้ยืมเงินอีกหลายครั้ง ค่อยมาว่ากันต่อในประเด็นด้านสังคมครับ