ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 8

ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 8

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตะวันออกกลางถือเป็นภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดของโลก ทั้งในด้านยุทธศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ตะวันออกกลางเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เชื่อมทวีปทั้ง 3 คือ แอฟริกา เอเชีย และยุโรป และตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อยู่ติดมหาสมุทรทั้ง 3 ของโลก

ภูมิภาคนี้มักถูกอ้างถึงบ่อย ๆ ว่าเป็นสะพานเชื่อมไปตะวันออกหรือเส้นทางไปสู่เอเชีย และในสมัยเริ่มแรกเคยถูกใช้เป็นเส้นทางจากยุโรปไปสู่จีนและอินเดีย ถึงแม้ว่าตะวันออกกลางจะเป็นดินแดนที่มีผลผลิตทางการเกษตรจำกัด และไม่ค่อยมีทรัพยากรอื่น ๆ มากนัก แต่ก็เป็นภูมิภาคที่มีแหล่งสำรองน้ำมันดิบอยู่ใต้ดินจำนวนมหาศาล

ร้อยละ 65 ของแหล่งน้ำมันสำรองของโลกอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่รอบ ๆ อ่าวเปอร์เซีย ซึ่งทำให้ดินแดนนี้มีความมั่งคั่งร่ำรวยมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และจัดว่าเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของอำนาจทางการเมืองที่นานาชาติต่างให้ความสนใจ

นอกจากตะวันออกกลางจะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญแล้ว ตะวันออกกลางยังเป็นแผ่นดินเกิดและศูนย์กลางทางจิตวิญญาณของศาสนาสำคัญหลายศาสนาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แหล่งอารยธรรมแรกเริ่มของตะวันออกกลาง ซึ่งรุ่งเรืองขึ้นในแถบลุ่มแม่น้ำไนล์และบริเวณลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสนั้น มีความเก่าแก่ที่สุดในโลก ไม่ว่าตัวอักษร ประมวลกฎหมาย หรือการปกครองในรูปของนครรัฐ ล้วนถือกำเนิดขึ้นในดินแดนตะวันออกกลางนี้ก่อนที่ไหน ๆ

แม้อย่างนั้น ตะวันออกกลางก็เป็นดินแดนแห่งความขัดแย้งที่เกิดความรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเช่นกัน แต่เหตุแห่งความขัดแย้งก็มาจากต้นตอในระยะหลัง ๆ เป็นสำคัญ เช่น ความขัดแย้งระหว่างชาวอาหรับกับอิสราเอลในเรื่องดินแดนปาเลสไตน์ (อันหมายถึงที่ตั้งประเทศอิสราเอลในปัจจุบันกับเขตยึดครองของอิสราเอล) ก็เป็นผลจากขบวนการไซออนิสต์ของชาวยิว (Jewish Zionist) ในศตวรรษที่ 20 นี้เอง

พื้นที่ส่วนใหญ่ของตะวันออกกลางเป็นที่ราบหรือที่ราบสูง ทางตอนใต้เป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ เช่น ทะเลทรายลิเบียกับทะเลทรายอาหรับในอียิปต์ ทะเลทรายรับอัลกาลีทางตอนใต้ของซาอุดีอาระเบีย และทะเลทรายซีเรียในเขตติดต่อของซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน ซีเรีย และอิรัก ทางตอนเหนือเป็นภูเขา

นอกจากแม่น้ำไนล์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำหลักของอียิปต์ กับแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสที่หล่อเลี้ยงอิรัก ซีเรีย และตุรกีแล้ว ตะวันออกกลางไม่มีแม่น้ำหรือลำธารสายใหญ่ๆอีกเลย ทะเลสาบกาลิลีทางเหนือของอิสราเอล ได้รับน้ำจากแม่น้ำจอร์แดนซึ่งเป็นทางน้ำตื้นๆ ใช้เดินเรือไม่ได้ แต่ก็เป็นแหล่งน้ำจืดหลักของอิสราเอล

ในความที่หาแหล่งน้ำไม่ค่อยได้นี้เอง เรื่องสิทธิการใช้น้ำเพื่อการดื่มกินใช้สอย ชลประทาน และปั่นไฟ จึงเป็นเรื่องใหญ่ในพื้นที่หลายส่วนของตะวันออกกลาง เช่น ในช่วงที่อิสราเอลเข้ายึดเวสต์แบงก์ใน ค.ศ. 1967 กับตอนใต้ของเลบานอนใน ค.ศ. 1982 ก็ได้เข้าควบคุมลำน้ำสาขาอันเป็นต้นแม่น้ำจอร์แดน ทะเลสาบกาลิลี และแม่น้ำสายเล็กๆ อีกสองสายเอาไว้ด้วย

หรือเมื่อครั้งที่รัฐบาลอิสราเอลอนุญาตให้ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยิวขุดเจาะบ่อน้ำในเวสต์แบงก์ ก็ไม่ยอมให้ชาวปาเลสไตน์ทำอย่างเดียวกัน ข้อตกลงสันติภาพระหว่างอาหรับกับอิสราเอลในการส่งมอบอำนาจปกครองในพื้นที่เหล่านี้ จึงเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องพ่วงเรื่องสิทธิการใช้น้ำเข้าไปด้วย

ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ในประเทศต่างๆ ที่มีการพัฒนาน้อยได้หันไปทำการเกษตรเพื่อการส่งออก เช่น ฝ้ายจากอียิปต์ ผ้าไหมจากเลบานอน ธัญพืชต่างๆ จากตุรกี อิรัก ซีเรีย และประเทศใกล้เคียง แหล่งปิโตรเลียมราวร้อยละ 65 และก๊าซธรรมชาติร้อยละ 26 ของโลกอยู่ในอิหร่าน อิรัก คูเวต ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ฝากไว้กับทรัพยากรใต้ดินดังกล่าว

บ่อน้ำมันและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องก็เป็นเสาหลักเศรษฐกิจของบาห์เรน กาตาร์ และโอมานด้วย ถึงจะมีน้ำมันไม่มากเท่าประเทศกลุ่มแรก แต่ก็มากพอที่จะช่วยให้ประชาชนในประเทศไม่ยากจน

หลายประเทศมีพลเมืองน้อย ทรัพยากรอย่างอื่นก็ไม่มี จึงต้องเจาะน้ำมันดิบขายอย่างเดียว มีแต่อิหร่านกับอิรักเท่านั้นที่มีประชากรมาก มีทรัพยากรทางการเกษตรมาก แต่ก็ต้องรบทัพจับศึกกับต่างชาติ แถมรัฐบาลยังบริหารผิดพลาด จนถูกนานาชาติคว่ำบาตร เศรษฐกิจจึงย่ำแย่ เหตุที่ตะวันออกกลางขาดแคลนวัตถุดิบ ตลาดในประเทศและภูมิภาคก็เล็ก ภาคการผลิตจึงไม่ค่อยโต

อย่างไรก็ดี บางประเทศก็มีการผลิตคอยค้ำจุนเศรษฐกิจเหมือนกัน เช่น อียิปต์กับตุรกีซึ่งทำสิ่งทอ อาหารแปรรูป และสารเคมี ส่วนประเทศที่มีน้ำมันมากก็มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แต่ประเทศตะวันออกกลางส่วนใหญ่ก็ยังขายส่งน้ำมันในรูปของน้ำมันดิบอยู่ดี

ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรน้ำมันในตะวันออกกลาง ประกอบกับปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญซึ่งทำให้ภูมิภาคนี้อยู่ในกระแสหลักของการเมืองและเศรษฐกิจโลกอยู่ตลอดเวลา การปรากฏขึ้นมาของขบวนการฟื้นฟูศาสนาและกลุ่มการเมืองอิสลาม (Political Islam) ต่างๆ ในเวทีการเมืองปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเมืองมิติใหม่ขึ้นในตะวันออกกลาง

ปัจจุบันตะวันออกกลางยังคงเป็นภูมิภาคที่สำคัญในกระแสการเมืองโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นในประเทศอิรัก ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ปัญหาการเมืองในเลบานอน อิทธิพลของกระแสความคิด “การเมืองอิสลาม” อิทธิพลที่เพิ่มสูงในระดับภูมิภาคของประเทศอิหร่าน และวงจรราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้ล้วนอยู่ในความสนใจระดับโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางย่อมส่งผลกระทบไม่เพียงแต่เฉพาะในภูมิภาคดังกล่าวเท่านั้น หากแต่ส่งอิทธิพลไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ขณะที่ความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งในภูมิภาคดังกล่าวนี้มักจะถูกครอบงำโดยเนื้อหาจากสื่อมวลชน ซึ่งมักนำเสนอความขัดแย้งทั้งหลายด้วยมุมมองที่แคบและหยุดนิ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมีความซับซ้อนและมีพลวัตเป็นอย่างสูง

ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญยิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างครอบคลุมรอบด้านถึงพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคม-เศรษฐกิจ และการเมืองความมั่นคงของประเด็นปัญหาร่วมสมัยในภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อภูมิภาคอันสำคัญยิ่งนี้ให้กระจ่างชัดมากที่สุด