ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 7

ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 7

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนการสถาปนารัฐอิสราเอลใน ค.ศ. 1948 พร้อมกับการสิ้นอำนาจของอาณานิคมยุโรปในตะวันออกกลาง มีชุมชนชาวยิวขนาดใหญ่ดำรงอยู่ในแทบทุกประเทศ ยกเว้นซาอุดีอาระเบียและประเทศแถบอ่าวเปอร์เซีย โดยชาวยิวที่ไปตั้งชุมชนในประเทศเหล่านี้จะพูดภาษาของประเทศหรือท้องถิ่นนั้นๆ (อาหรับ เปอร์เซีย ตุรกี) และมักอยู่รวมกันในชุมชนเมือง

ทางตอนเหนือของอิรักก็มีชุมชนยิวเล็กๆ กระจัดกระจายอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ตามชนบทบริเวณเขตอิทธิพลของชาวเคิร์ด ชุมชนยิวในเขตนี้ถูกเรียกว่า “ยิวเคิร์ด” ซึ่งใช้ภาษาฮิบรูพื้นเมืองดั้งเดิมที่เรียกว่า “ตาร์คุม (targum)” ซึ่งเป็นสำเนียงของภาษาอราเมอิค


คัมภีร์ไบเบิล ภาษาอราเมอิค
รูปภาพจาก https://blog.logos.com/2013/04/the-aramaic-bible-get-the-targums-in-english-and-more/

นอกจากนั้น ในโมร็อกโกก็ยังมีชุมชนยิวก่อตัวแทรกอยู่รวมกับชาวเบอร์เบอร์ในเขตชนบทบริเวณเขตภูเขาของประเทศ

ทั้งนี้ ชุมชนชาวยิวในที่ต่างๆ ของตะวันออกกลางมีลักษณะที่หลากหลายและมีสถานะที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีการดำเนินชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ต่างกันในแต่ละประเทศที่ชาวยิวเหล่านี้อาศัยอยู่ พวกเขามีสถานะและอาชีพที่แตกต่างกันตั้งแต่นายธนาคารและพ่อค้าที่ร่ำรวยมั่งคั่งเรื่อยไปจนถึงช่างฝีมือและเจ้าของกิจการร้านค้าเล็กๆ

นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 ชาวยิวจำนวนมากได้อพยพไปยังอิสราเอล สหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส และประเทศอื่น ๆ ทำให้จำนวนชาวยิวในปัจจุบันที่ยังอาศัยอยู่ในตุรกี อิหร่าน และประเทศอาหรับอื่น ๆ เหลือเพียงไม่กี่พันคน

ยิวในอิสราเอลที่อพยพมาจากอิรัก โมร็อกโก เยเมน ตูนีเซีย และลิเบีย ถูกเรียกว่า “ยิวตะวันออก (Oriental Jews) ” หรือ “มิซราชิมห์ (Mizrashim)” ในภาษาฮิบรูไทเบอร์เรียน (Hebrew Tiberian)

แม้ชาวยิวเหล่านี้จะมีจำนวนมากถึงครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของอิสราเอล แต่พวกเขากลับล้าหลังและมีสถานะด้อยกว่าชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรปทั้งในด้านอำนาจทางการเมืองและสถานภาพทางสังคม

นอกเหนือจากชุมชนคริสเตียนและยิวแล้ว ยังมีชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอื่น ๆ อีกจำนวนมากในภูมิภาคนี้ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไป

ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้บางกรณีเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนาภายในกลุ่มมุสลิมเอง ซึ่งส่วนใหญ่แตกกิ่งก้านสาขามาจากกลุ่มชีอะห์ เช่น พวกดรูซที่อยู่บริเวณเขตภูเขาในซีเรีย เลบานอน และอิสราเอล พวกอะลาวีย์ในซีเรียและตุรกี(Alawi) พวกไซดี (Zaidi) ที่อยู่บริเวณที่ราบสูงของเยเมน และพวกยาสิดี (Yazidi) ทางตอนเหนือของอิรัก

กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้มีภูมิหลังประวัติศาสตร์ร่วมกันมาช้านานทั้งในมิติความขัดแย้งทางการเมือง ความปราชัย และการกดขี่ข่มเหง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงกระจัดกระจายกันไปอยู่ตามดินแดนเล็ก ๆ ที่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจรัฐ

ทั้งนี้ แม้พวกเขาจะมีแนวปฏิบัติและความเชื่อทางศาสนาและวัฒนธรรมที่ต่างกัน แต่กลุ่มต่าง ๆ ก็มีการจัดระบบทางสังคมอย่างเข้มงวดภายใต้การนำของผู้อาวุโสและผู้นำทางจิตวิญญาณ พวกเขามักนิยมแต่งงานเลือกคู่ครองกันภายใน และมักมีวิถีชีวิตที่ลึกลับ ซึ่งยากที่บุคคลภายนอกจะเข้าใจเข้าถึงได้ง่าย ๆ

นอกจากนั้น ยังมีอีกกลุ่มชนหนึ่งที่เรียกว่า “เซอคัสเซียน (Circassian)” ซึ่งมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตัวเองและไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นจากความแตกต่างทางด้านภาษา ศาสนา และวิถีการดำรงชีวิต


ชาวเซอคัสเซียนในตุรกี
รูปภาพจาก https://www.hurriyetdailynews.com/interview-circassian-identity-a-hidden-germ-in-turkish-politics-82165

เซอคัสเซียนคือ มุสลิมสำนักคิดซุนนีย์ที่ใช้ภาษาอาหรับในการสื่อสาร ส่วนมากอยู่ในตุรกี จอร์แดน ซีเรีย และอิรัก

เซอคัสเซียนบางส่วนอพยพมาจากบ้านเกิดในแถบเทือกเขาคอเคซัส (Caucasus) เข้ามาในตะวันออกกลางในฐานะผู้ลี้ภัยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 บางส่วนถูกต้อนเข้ามาโดยพวกออตโตมัน และตั้งรกรากใหม่ในดินแดนอาหรับที่พวกออตโตมันเห็นว่ายากต่อการปกครอง ทั้งนี้ เพราะออตโตมันต้องการใช้พวกเซอคัสเซียนเป็นกลุ่มกันชนระหว่างพวกเขากับอาหรับ

แม้ชาวเซอคัสเซียนจะมีจำนวนน้อยและอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามประเทศต่าง ๆ แต่พวกเขาก็พยายามรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตนเองด้วยการปลูกจิตสำนึกและความทรงจำร่วมกันในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และการมีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน