ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 5

ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 5

บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสนาถือเป็นเครื่องบ่งชี้ทางอัตลักษณ์ของผู้คนในตะวันออกกลางที่สำคัญอีกประการหนึ่ง อิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือ ก่อกำเนิดขึ้นอีกครั้งทางตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับ เมื่อศาสนทูตมุฮัมมัด (A.D. 570-632) ประสบความสำเร็จในการชี้นำให้ผู้คนที่นั่นหันมาสู่แนวทางที่พระผู้เป็นเจ้าทรงวางไว้

เมื่อศาสนทูตได้สิ้นชีวิตลง กองทัพมุสลิมอาหรับก็เริ่มขยายอาณาจักรออกไปสู่โลกภายนอก โดยการโค่นอำนาจอาณาจักรไบเซนไตน์ (โรมันตะวันออก) และซัซซานิด (เปอร์เซีย) ที่เคยรุ่งเรืองยิ่งใหญ่อยู่ในขณะนั้น ภายใน 100 ปีหลังการจากไปของศาสนทูต อาณาจักรอิสลามก็ขยายออกไปอย่างกว้างไกล ครอบคลุมดินแดนบางส่วนของยุโรปตะวันตกไปจนจรดอัฟกานิสถานทางตะวันออก


ภาพประกอบจาก https://julianrojasidtworldgphyproject.weebly.com/islamic-expansion.html

การพิชิตดินแดนต่าง ๆ ดำเนินไปพร้อม ๆ กับการที่ประชาชนจากหลากหลายพื้นที่หันมายอมรับนับถือศาสนาอิสลามเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะไม่ว่าชาวอาหรับจะเคลื่อนย้ายออกไปที่ไหน พวกเขาก็จะนำเอาศาสนาของตนเองไปเผยแพร่ด้วย พร้อม ๆ กันนั้น พวกเขาก็จะเรียนวิชาการต่าง ๆ จากคนที่ตนเองปกครอง แล้วบันทึกวิชาความรู้ที่ได้มารวบรวมไว้ในรูปของหนังสือ

อีกทั้งชาวอาหรับยังได้พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ที่ได้ศึกษามาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ยังผลให้งานด้านศิลปะ สถาปัตยกรรม วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เจริญรุ่งเรืองอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ของตะวันออกกลาง ก่อนที่จะถูกถ่ายโอนความรู้เหล่านั้นไปให้ชาวยุโรปตะวันตก เช่น ระบบการนับตัวเลขที่นิยมใช้กันอยู่ในยุโรปและทั่วโลกปัจจุบัน ก็มาจากการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านนี้จากชาวอาหรับในยุคกลาง

ต่อมาเมื่ออำนาจของชาวอาหรับได้อ่อนแอลง ชาวมุสลิมอาหรับที่อยู่รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครองใหม่ภายใต้การนำของพวกเติร์ก ซึ่งเป็นมุสลิมเช่นเดียวกับพวกเขา พวกเติร์กเป็นผู้ที่แพร่ขยายอิสลามให้กว้างไกลออกไปอีก แต่นับจากศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา อาณาจักรของพวกเติร์กหรืออาณาจักรออตโตมัน (Ottoman Empire) ก็เริ่มอ่อนแอและหมดอำนาจลงในที่สุด แต่ถึงอย่างนั้น อิสลามก็ยังเป็นศาสนาสำคัญในตะวันออกกลางจนถึงปัจจุบัน

ท่านศาสนทูตมุฮัมมัดให้การยอมรับชาวยิวและคริสเตียนว่าเป็น “ชาวคัมภีร์” เพราะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับแนวทางที่ถูกต้องจากคัมภีร์ก่อน ๆ ที่ถูกประทานลงมาโดยพระผู้เป็นเจ้า แต่ทั้งชาวยิวและคริสเตียนก็ไม่ได้ยอมรับคัมภีร์อัล-กุรอาน ซึ่งมุสลิมเชื่อว่าเป็นคัมภีร์เล่มสุดท้ายที่สมบูรณ์ที่สุด

ถึงอย่างนั้นชาวยิวและชาวคริสเตียนที่จัดตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเล็ก ๆ บริเวณตอนเหนือของคาบสมุทรอาหรับก็มีเสรีภาพในด้านความเชื่อและไม่ถูกบังคับให้หันมานับถือศาสนาอิสลามแต่อย่างใด พวกเขาได้รับการยอมรับและอยู่ในสถานะพิเศษในฐานะ “ผู้ที่ได้รับการคุ้มครอง” ในดินแดนมุสลิม

นโยบายดังกล่าวของท่านศาสนทูตมุฮัมมัดได้ถูกสืบสานและนำมาปฏิบัติใช้กับรัฐมุสลิมทั้งหมดในยุคต่อ ๆ มา ชาวยิวและชาวคริสเตียนนิกายต่าง ๆ สามารถประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อทางศาสนาได้อย่างเสรี ตลอดจนการดำรงไว้ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมของพวกเขา เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าคนเหล่านี้จะต้องจ่ายภาษีรายบุคคลในอัตราพิเศษแลกกับการไม่ต้องรับใช้กองทัพ ซึ่งในเวลาต่อมานโยบายนี้ถูกนำมาใช้ในอาณาจักรออตโตมันและแพร่หลายไปยังชุมชนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่มุสลิม (ภายในอาณาจักรออตโตมัน) รวมทั้งชุมชนชาวอาร์เมเนียน (Armenians) ดรูซ (Druze) ฯลฯ

ระบบดังกล่าวนี้เรียกว่า “millet system” อันเป็นหลักการพื้นฐานของการบริหารปกครองอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 มีชุมชนต่างศาสนาที่อยู่ภายใต้อาณาจักรเดียวกันถึง 17 ชุมชน และเป็นชุมชนทางศาสนาที่เป็นองค์ประกอบดั้งเดิมของโครงสร้างสังคมในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ด้วยคุณลักษณะของการอยู่ร่วมกันและความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ทำให้เกิดอัตลักษณ์ของนิกายทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นทั้งทางการเมืองและสังคมในยุคสมัยต่อมา

ตอนต่อไป ลองมาทำความรู้จักชาวคริสเตียนในตะวันออกกลางกันบ้างครับ