ประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางสมัยใหม่ ตอนที่ 4
บทความโดย ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์และกลุ่มชนนับเป็นเรื่องพื้นฐานทั่วไปขององค์กรทางสังคมในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีที่กลุ่มชนต่าง ๆ เหล่านั้นถูกกำหนดลักษณะโดยอาศัยอัตลักษณ์ทางศาสนา ก่อนที่อาณาจักรออตโตมันจะล่มสลายและก่อนที่อุดมการณ์ชาตินิยมสมัยใหม่จะเติบโตขึ้นในตะวันออกกลาง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมักมีลักษณะของการเป็นสมาชิกกลุ่มเผ่าชนหรือกลุ่มนิกายทางศาสนา แนวโน้มดังกล่าวนี้ยังคงปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
ขบวนการชาตินิยมและอุดมการณ์ต่าง ๆ ทางโลกวิสัย (secular ideologies) ต่างล้มเหลวที่จะกัดกร่อนทำลายอัตลักษณ์แคบ ๆ ที่ตั้งอยู่บนฐานของความสัมพันธ์ทางสายเลือดเผ่าพันธุ์ ภาษา และศาสนาของผู้คนในภูมิภาค
ภาษา 4 ตระกูลหลักของตะวันออกกลางคือ ภาษาอินโด-ยุโรเปียน (Indo-European) เซมิติก (Semitic) อัลตาอิก หรือ ตุรกิค (Altaic or Turkic) และ อัฟโร-เอเชียติค (Afro-Asiatic)
ขณะที่ภาษาเปอร์เซีย (Farsi) ภาษาเคิร์ด (Kurdish) ภาษาลูรี (Luri) ภาษาบาลูชิ (Baluchi) และภาษาอาร์เมเนียน (Armenian) ล้วนจัดอยู่ในตระกูลภาษาอินโด-ยุโรเปียน ส่วนภาษาอาหรับและฮิบรูอยู่ในตระกูลภาษาเซมิติก ในขณะที่ตระกูลภาษาตุรกิคนั้น ประกอบไปด้วยภาษาเติร์กสมัยใหม่ (modern standard Turkish) ภาษาอะเซอรี (Azeri) และภาษาเติร์กเมน (Turkmen) ภาษาฮิบรู ฟาร์ซี และตุรกิช เป็นภาษาประจำชาติของอิสราเอล อิหร่าน และตุรกี ตามลำดับ ส่วนภาษาอาหรับนั้นเป็นภาษาประจำชาติของประเทศต่าง ๆ ที่เหลือทั้งหมดของภูมิภาค ภาษาฟาร์ซีใช้ตัวอักษรภาษาอาหรับในการเขียน และมีคำศัพท์มากมายของภาษาฟาร์ซีที่มีคำภาษาอาหรับผสมอยู่
ในช่วงการปกครองของออตโตมาน ภาษาตุรกีก็ใช้ตัวอักษรภาษาอาหรับเป็นตัวเขียน แต่หลังจากที่อาณาจักรออตโตมันถูกพิชิตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งแรก ชนชั้นนำของรัฐตุรกีสมัยใหม่จึงออกกฎหมายให้ใช้ตัวอักษรโรมันแทนตัวอักษรอาหรับ อันถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ตุรกีเป็นรัฐสมัยใหม่
ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกา โดยเฉพาะพื้นที่แทบภูเขาของโมร็อกโกและแอลจีเรีย ตลอดจนบางส่วนของทะเลทรายซาฮาร่า (Sahara Desert) ผู้คนต่างพูดภาษาท้องถิ่นเบอร์เบอร์ที่มีความหลากหลาย ภาษาเบอร์เบอร์เป็นภาษาตระกูลอัฟโร-เอเชียที่ใช้พูดกันในหมู่คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่แถบแอฟริกาเหนือและบางส่วนของซาฮาร่า
ส่วนชาวเคิร์ด ซึ่งมีประชากรทั้งหมดอยู่ประมาณ 20-40 ล้านคนนั้น นับเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่างทางภาษาที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง ชาวเคิร์ดส่วนใหญ่เป็นมุสลิมซุนนีย์ แต่ก็มีหลายคนที่ยึดมั่นในความเชื่อแบบซูฟี (Sufi brotherhood) หรือพวก “ฏอริเกาะห์” (tariqa) ในขณะเดียวกัน ก็มีชาวเคิร์ดบางกลุ่มที่เชื่อตามสายชีอะห์ ชาวเคิร์ดพูดภาษาเคิร์ดท้องถิ่นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นภาษาตระกูลอินโด-ยุโรเปียน คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหุบเขาที่เป็นเขตพรมแดนที่เชื่อมต่อกันระหว่างประเทศตุรกี อิหร่าน อิรัก ซีเรีย และอดีตสหภาพโซเวียต ประเทศทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีชาวเคิร์ดเป็นชนกลุ่มน้อยทั้งสิ้น
การแตกสลายของมาตุภูมิและการกระจัดกระจายของผู้คนชาวเคิร์ดไปอยู่ตามประเทศต่าง ๆ ดังกล่าว ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแสวงหาอำนาจของจักรวรรดินิยมยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส เพราะนโยบายและการขับเคี่ยวต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง ส่งผลให้แผนที่ทางการเมืองของตะวันออกกลางก่อรูปขึ้นอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน
ชาวเคิร์ดมีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อนยาวนานในการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยอาจย้อนกลับไปได้ถึงทศวรรษที่ 1920 ที่ผู้นำของชาวเคิร์ด ทั้งที่มีอุดมการณ์ศาสนาและโลกาวิสัย ต่างจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหว อันมีเป้าหมายก่อตั้งรัฐอิสระของตนเองขึ้นมา (แต่ในบางกรณีก็เรียกร้องเพียงแค่การปกครองตนเอง) ความสำเร็จและความล้มเหลวของขบวนการชาวเคิร์ดเหล่านี้ ไม่ว่าจะในอิรัก อิหร่าน ซีเรีย หรือตุรกี มีความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับลักษณะของระบอบการปกครองของแต่ละประเทศและผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจโลกในแต่ละยุคแต่ละสมัย
ส่วนกลุ่มชนเผ่าเบอร์เบอร์ของโมร็อกโกและแอลจีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถบชนบทตามหุบเขาและเขตทะเลทรายนั้น เป็นมุสลิมซุนนีย์เหมือนกับชาวอาหรับที่เป็นเพื่อนร่วมชาติ ชาวเบอร์เบอร์เป็นกลุ่มคนที่สำนึกในอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่แตกต่างจากกลุ่มชนอื่น ทั้งเรื่องภาษาและการอ้างว่าตนเป็นกลุ่มคนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แต่ดั้งเดิมก่อนที่มุสลิมอาหรับจะรุกเข้ามาในช่วงศตวรรษที่ 7 เสียอีก
อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกสำนึกทางชาติพันธุ์ดังกล่าว ก็คงเป็นเพียงสำนึกที่จำกัดอยู่ในขอบข่ายระดับวัฒนธรรมเท่านั้น โดยไม่ได้ก้าวล่วงไปถึงความแบ่งแยกทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่พื้นที่นี้ถูกครอบงำโดยจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสนั้น นโยบายของเจ้าอาณานิคมคือ การกระตุ้นอุดมการณ์แนวคิดที่ว่า อัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาวเบอร์เบอร์มีความแตกต่างแปลกแยกกับชาวอาหรับและชาวมุสลิมในสังคมเมืองของโมร็อกโก
ความพยายามที่จะใช้นโยบาย “แบ่งแยกและปกครอง (divide and rule) ” นี้ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชาวเบอร์เบอร์นั้น กลายเป็นกลุ่มคนชั้นแนวหน้าที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชให้แก่โมร็อกโกและแอลจีเรียเสียเอง (ร่วมกับชาวอาหรับและมุสลิม)