ย้อนพิจารณาแผนสันติภาพตะวันออกกลาง
บทความโดย ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีเพื่อนคนไทยหลายคนถามเข้ามาว่าทำไมโลกมุสลิมส่วนใหญ่จึงรีบปฏิเสธแผนสันติภาพตะวันออกกลาง หรือที่รู้จักกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “ข้อตกลงแห่งศตวรรษ” หรือ Deal of the Century (ซึ่งนำเสนอโดยประธานาธิปดีสหรัฐฯคนล่าสุด) ทั้ง ๆ ที่เป็นความพยายามที่จะแก้ปัญหาขัดแย้งที่เกิดขึ้นมายาวนานเป็นร้อย ๆ ปี
คงต้องเรียนอย่างนี้เป็นลำดับแรกครับว่า แผนสันติภาพที่ทรัมป์เสนอไม่ได้เป็นความพยายามครั้งแรกที่พยายามแก้ปัญหานี้ อันที่จริงชาวปาเลสไตน์ ซึ่งถือเป็นเป็นเจ้าของดินแดนเดิมที่ขณะนี้กลายเป็นประเทศอิสราเอลไปเกือบหมดแล้ว เคยชอกช้ำมาหลายครั้งหลายคราหลังจากตัดสินใจใช้วิธีพูดคุยเจรจามาเป็นเวลาอย่างน้อยก็ 27 ปี
จริง ๆ แล้วเรื่องการเจรจาสันติภาพตะวันออกกลาง มันเริ่นต้นเมื่อวันที่ 13 กันยายน 1993 ตอนนั้นมีการลงนามในสนธิสัญญากาซ่า-เจริโคอย่างเป็นทางการที่กรุงวอชิงตันระหว่างประธานของกลุ่ม PLO นาย ยัซเซอร์ อารอฟัต นายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาย ยิตซัค ราบิน (Yitzhak Rabin) และประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย บิล คลินตัน
หลายฝ่ายเรียกสนธิสัญญาฉบับนี้ว่าเป็น “ความก้าวหน้าแห่งประวัติศาสตร์” และถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “แถลงการณ์แห่งหลักการที่ว่าด้วยเรื่องการปกครองตนเองชั่วคราว” (Declaration of Principles on interim Self Government) ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังจากการลงนาม 1 เดือน หรือในวันที่ 13 ตุลาคม 1993 ต่อมา “แถลงการณ์แห่งหลักการ” นี้จึงถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติผ่านการทำสนธิสัญญาออสโล (Oslo Accords) และข้อตกลงตอบา (Taba Agreements)
มาตราที่ 1 ของแถลงการณ์ระบุให้มีการจัดตั้ง “คณะปกครองตนเองชั่วคราวของชาวปาเลสไตน์” ขึ้น (มีสภาที่มาจากการเลือกตั้ง) ในเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า เป็นรัฐบาลในระยะเปลี่ยนผ่านที่มีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 5 ปี โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างถาวรตามแนวทางของมติ 242 และ 338 ของสภาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อที่จะให้ประชาชนชาวปาเลสไตน์ในเวสต์แบงค์และกาซ่าได้ปกครองตนเองบนพื้นฐานหลักการประชาธิปไตย และมีการเลือกตั้งโดยตรงเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาผู้แทนฯ (มาตราที่ 3)
การเจรจาถึงสถานะขั้นสุดท้าย หรือสถานะถาวรจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่จะต้องไม่ช้ากว่าระยะเริ่มต้นปีที่สามของช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างรัฐบาลอิสราเอลกับตัวแทนชาวปาเลสไตน์ การเจรจาดังกล่าวนี้จะต้องครอบคลุมประเด็นปัญหาทั้งหมดที่เหลือ อาทิเช่น สถานะของกรุงเยรูซาเล็ม ปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ พรมแดนและอื่นๆ (มาตราที่ 5) แต่ในระยะแรก (ระหว่างที่สนธิสัญญาจะมีผลบังคับใช้เพื่อเลือกตั้งสภา) อำนาจการปกครองจะถูกเปลี่ยนมือจากการปกครองโดยทหารอิสราเอลไปอยู่ภายใต้อำนาจของชาวปาเลสไตน์ (มาตรา VI) การเปลี่ยนถ่ายอำนาจนี้จะเป็นการเตรียมการจนกระทั่งสมาชิกสภาจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ อำนาจที่เปลี่ยนถ่ายไปจะครอบคลุมเรื่องการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข สวัสดิการสังคม การเก็บภาษี การท่องเที่ยว และอื่นๆ
เพื่อที่จะรับประกันถึงระเบียบสังคมและความมั่นคงภายในของชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงค์และกาซ่า คณะปกครองหรือสภาสามารถจัดตั้งกองกำลังตำรวจขึ้น แต่อิสราเอลจะยังคงดูแลรับผิดชอบด้านการป้องกันภัยคุกคามจากภายนอก รวมถึงความมั่นคงของอิสราเอล (มาตรา VIII) นอกจากนั้นยังจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ซึ่งจะเป็นผู้ที่ประสานงานในประเด็นปัญหาและความขัดแย้งต่างๆ (มาตรา X)
ส่วนในภาคผนวกที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงข้อตกลงว่าด้วยการถอนกองกำลังอิสราเอลออกจากฉนวนกาซ่าและจาริโคจะมีการลงนามกันภายใน 2 เดือนนับจากวันที่แถลงการณ์ฯ มีผลบังคับใช้หรือนับจากวันที่ 13 ธันวาคม 1993
การถอนกำลังทั้งหมดจะต้องสิ้นสุดลงภายในช่วงเวลาไม่เกิน 4 เดือนนับจากมีการลงนามในข้อตกลง สำหรับภาคผนวกที่ 1 นั้น ชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในเยรูซาเล็มมีสิทธิ์ที่จะมีส่วนร่วมในกระบวนการการเลือกตั้ง นอกจากนั้น แถลงการณ์ฯ ยังระบุอีกหลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับโครงการเศรษฐกิจและการพัฒนาของพื้นที่
สนธิสัญญาข้างต้นนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ผสมผสานจากฝ่ายต่างๆ ทั้งหมด ชาวปาเลสไตน์ทั้งที่เป็นผู้พลัดถิ่นและที่อยู่ในดินแดนภายใต้การยึดครองส่วนใหญ่ต่างรู้สึกยินดีที่มีการทำสนธิสัญญานี้ แม้ความยินดีของพวกเขาจะผสมผสานความรู้สึกหวาดระแวงก็ตาม
ส่วนพวกที่ต่อต้านก็คือ กลุ่มฝ่ายซ้ายปาเลสไตน์อย่างกลุ่ม PFLP และ DFLP ส่วนกลุ่มฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงอย่างกลุ่ม PFLP-GC ที่นำโดยอบูนิดาล ไม่เพียงแต่ต่อต้านเท่านั้น แต่ยังข่มขู่ที่จะเอาชีวิตอารอฟัตอีกด้วย ขณะที่กลุ่มฝ่ายขวาอย่างขบวนการฮามาส (Hamas) ได้ออกมาต่อต้านสนธิสัญญาอย่างหนัก พร้อมทั้งตีตราว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเสมือนการขายชาติ
นอกจากนั้น การทำสนธิสัญญายังนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ภายในกลุ่ม PLO ที่มีความใกล้ชิดกับอารอฟัต สมาชิกคนสำคัญบางคนของสภาบริหาร PLO อย่างฟารูก กาดดูมี (Farouk Kaddaumi) อับบาส ซากี (Abbas Zaki) และมะห์มูด ดาร์วิช (Mahmud Darwish) ได้กล่าวหาอารอฟัตว่าใช้อำนาจเหมือนเผด็จการ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเป็นผู้นำร่วมกัน มิใช่ระบบการตัดสินใจโดยผู้นำคนเดียว
ส่วนประชาชนอิสราเอลเองก็มีความเห็นที่แตกต่างกัน จากการโหวตเสียงสมาชิกสภาเนทเซต 120 คน ปรากฏว่าสมาชิก 61 คนโหวตสนับสนุน อีก 50 คนต่อต้าน 8 คนงดออกเสียง และอีก 1 คนขาดการประชุม 5 คนของพวกที่งดออกเสียงมาจากกลุ่มฝ่ายขวาหรือกลุ่ม “Shas” ส่วนอีก 3 คนมาจากพรรคฝ่ายค้านลิคุด (Likud) พรรคลิคุดอ้างว่า สนธิสัญญาที่ทำกับ PLO เท่ากับเป็นการประนีประนอมอ่อนข้อต่อความฝันของชาวยิวที่มีมา ช้านานในการจัดตั้งรัฐอิสราเอล (Eretz Israel) ในดินแดนทั้งหมดที่คัมภีร์ไบเบิ้ลระบุเอาไว้
ยิ่งกว่านั้น การควบคุมของอิสราเอลเหนือดินแดนกาซ่าและเวสต์แบงค์ ถือเป็นการรักษาความมั่นคงที่สำคัญของอิสราเอล นายเบนจามิน เนทันยาฮู (Binyamin Netanyahu) ผู้นำพรรคลิคุดขณะนั้น (ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน) เชื่อว่าอิสราเอลตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียอิสรภาพ มีเพียงการควบคุมดินแดนที่ยึดมาได้ในสงครามปี 1967 อย่างมั่นคงเท่านั้น ที่จะรับประกันความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของชาวยิวผู้มาตั้งถิ่นฐานใหม่ได้
ส่วนปฏิกิริยาของโลกอาหรับที่มีต่อสนธิสัญญานั้นเป็นไปอย่างผสมผสาน รัฐด่านหน้าที่มีพรมแดนติดอิสราเอลอย่างซีเรีย เลบานอนและจอร์แดน ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินนโยบายการทูตของอารอฟัตที่พวกเขามองว่าเป็นการทำลายหลักการประสานงานด้านยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่าง PLO กับชาติอาหรับในการรับมือกับอิสราเอล
อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาจอร์แดนได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอิสราเอล ส่วนท่าทีของซีเรียนั้นค่อนข้างสำคัญ เพราะเป็นประเทศที่ควบคุมฐานที่มั่นของกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์ในกรุงดามัสกัส ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต่อต้านสนธิสัญญาอย่างรุนแรง ทั้งสหรัฐฯ และอิสราเอลต่างพยายามกดดันให้ประธานาธิบดีอัสซาด (Assad) แห่งซีเรีย ลดเสียงต่อต้านของกลุ่มปาเลสไตน์เหล่านั้น
แต่ทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้คือ จะต้องนำเอาซีเรียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งนั่นจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่ออิสราเอลตกลงที่จะถอนกองกำลังออกจากที่ราบสูงโกราน (Golan Heights) ที่อิสราเอลยึดไปจากซีเรียหลังสงคราม 6 วันปี 1967 อันจะทำให้ท่าทีของซีเรียที่มีต่ออิสราเอลอ่อนลง
อย่างไรก็ตาม การปกครองตนเองตามขั้นตอนที่มีการเจรจาที่ออสโลก็มีข้อจำกัดอย่างมาก ซึ่งทำให้กระบวนการสันติภาพต้องล้มลงในที่สุด กระบวนการสันติภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาที่สำคัญขึ้นมาหาทางแก้ไข เช่น ประเด็นเรื่องสถานะของกรุงเยรูซาเล็ม การตั้งถิ่นฐานชาวยิวในดินแดนปาเลสไตน์ และปัญหาผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
นอกจากนั้น ข้อสัญญาที่มีการลงนามระหว่างกันกลับไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจังอีกด้วย โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ
ประการแรก คือ เรื่องดินแดนที่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบของการปกครองตนเอง ปรากฏว่าในปี 2000 ซึ่งการเจรจาสันติภาพได้ผ่านมาแล้ว 7 ปี พื้นที่ที่เป็นเขตอธิปไตยของชาวปาเลสไตน์ซึ่งเรียกว่า “โซน A” มีเพียงร้อยละ 17.2 จากพื้นที่ทั้งหมดที่ได้วางแผนเอาไว้ว่าจะเป็นเขตปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์
ส่วน “โซน B” (ซึ่งหมายถึง พื้นที่ที่ปกครองโดยคณะปกครองปาเลสไตน์ โดยมีกองทัพอิสราเอลดูแลด้านความมั่นคง) มีอยู่ร้อยละ 23.8 ของพื้นที่ทั้งหมด
ในขณะที่ “โซน C” หรือดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอล มีอยู่สูงถึงร้อยละ 59 โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของปาเลสไตน์ เช่น น้ำบาดาล และพื้นที่เพาะปลูกทำการเกษตรในหุบเขาจอร์แดน เป็นต้น
ประการที่สอง คือ ประเด็นเรื่องการตั้งถิ่นฐานชาวยิว ซึ่งขยายตัวออกไปอย่างมากหลังวันที่ 13 กันยายน 1993 จนถึงระดับที่ว่ามีผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวยิวที่อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ถึงกว่า 400,000 คน ไม่นับรวมพวกที่เข้ามาอยู่ในเยรูซาเล็ม
แม้ว่าจำนวนประชากรชาวยิวเหล่านี้จะน้อยกว่าประชากรชาวปาเลสไตน์เป็นสิบเท่า แต่พวกเขากลับครอบครองที่ดินมากกว่าชาวปาเลสไตน์ 2 เท่า ได้รับประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรน้ำในสัดส่วนที่มากกว่า นอกจากนั้น พวกเขายังขึ้นตรงต่อคำสั่งหรือกฎหมายของทางการอิสราเอลเท่านั้น
“อารอฟัตเองถูกบีบบังคับให้ลงนามข้อตกลงใน “ทำเนียบขาว” ซึ่งรวมถึงการยอมรับใดยพฤตินัยและนิตินัยของการตั้งถิ่นฐานชาวยิวในปาเลสไตน์ทั้งหมด” ข้อความดังกล่าวนี้ เป็นการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา โดยโมชี ชาฮาล (Moche Shahal) รัฐมนตรีหน่วยงานตำรวจจากพรรคแรงงาน หลังจากที่มีการลงนามสนธิสัญญาออสโลที่ 2 (Oslo II) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1995
ประการที่สาม คือ ความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจของชาวปาเลสไตน์ถดถอยลงอย่างมากจากภาวะที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอลเป็นเวลานานหลายปี ในช่วงเวลานี้ นอกจากอิสราเอลจะถือครองที่ดินทำกินส่วนใหญ่และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำแล้ว อิสราเอลยังได้ยึดเอาผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GNP) ของปาเลสไตน์ไว้ร้อยละ 20
ในขณะเดียวกัน การลงทุนส่วนใหญ่ร้อยละ 95.5 ของอิสราเอลจะไปลงที่นิคมชาวยิวที่ตั้งถิ่นฐานใหม่ ในปี ค.ศ. 1993 ผลผลิตในเขตเวสต์แบงค์คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของผลผลิตในอิสราเอล ส่วนในกาซ่าผลผลิตคิดเป็นร้อยละ 1 เท่านั้นเอง ในขณะที่ GNP ต่อหัวต่อปี อยู่ที่ 2,040 เหรียญสหรัฐในเวสต์แบงค์ และ 1,250 เหรียญสหรัฐฯ ในกาซ่า เทียบกับ 13,000 เหรียญสหรัฐฯ ในอิสราเอล
สาเหตุหลักของการด้อยพัฒนาในดินแดนดังกล่าวนี้เกิดจากการที่ต้องพึ่งพาอิสราเอลอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า ร้อยละ 90 ของสินค้านำเข้าในกาซ่าและเวสต์แบงค์ล้วนมาจากอิสราเอล โดยที่พวกเขาส่งออกสินค้าและวัตถุดิบไปให้อิสราเอลร้อยละ 75 ของผลผลิตทั้งหมด
งานมากมายที่มีอยู่ในอิสราเอลรองรับได้เพียงแค่ร้อยละ 34 ของประชากรที่หางานทำในเขตเวสต์แบงค์ (ซึ่งคิดเป็น 1 ส่วน 4 ของ GNP ในเวสต์แบงค์) อาเดล ซามารอ (Adel samara) นักเศรษฐศาสตร์ปาเลสไตน์ได้อธิบายไว้ว่า “อิสราเอลได้ตัดการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างดินแดนใต้การยึดครองกับโลกภายนอก ทำให้ดินแดนกลายสภาพเป็นตลาดเชลยและกีดขวางไม่ให้เกิดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่พึ่งตนเอง”
ขณะเดียวกัน ข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่รู้จักกันในนาม “สนธิสัญญาปารีส” (Paris Accord) ลงนามเมื่อวันที่ 29 เมษายน 1994 (ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขเล็กน้อยในช่วงการลงนามในสนธิสัญญาออสโลที่ 2) ไม่ได้บอกถึงวิธีที่การปกครองตนเองของชาวปาเลสไตน์จะหลุดพ้นจากการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากอิสราเอลอย่างไร และไม่ได้มีการพูดถึงการจัดตั้งธนาคารกลางหรือการผลิตเงินตราออกมาใช้
ถึงแม้ว่าจะมีการจัดตั้งเขตแลกเปลี่ยนเสรี (Free-Exchange Zone) ระหว่างหุ้นส่วนทั้ง 2 แต่ก็ยังมีการกำหนดโควตาการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรหลักๆ ของชาวปาเลสไตน์ที่จะเข้าไปในอิสราเอล และกำหนดโควตาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่มาจากโลกอาหรับและที่อื่นๆ เข้ามาในเวสต์แบงค์และกาซ่า
นโยบายการคลังของปาเลสไตน์เกือบเหมือนนโยบายการคลังของอิสราเอลทุกประการ แต่ละวันที่อิสราเอลปิดพรมแดนไม่ให้แรงงานปาเลสไตน์และสินค้าผ่านเข้าออก (ตามการประเมินของธนาคารโลก) ทำให้ชาวปาเลสไตน์สูญเสียรายได้อย่างมาก โดยกาซ่าสูญเสียรายได้ร้อยละ 30 และเวสต์แบงค์สูญเสียร้อยละ 25 ดังกล่าวนี้ยังไม่รวมถึงภาวการณ์ขาดแคลนอาหารและยารักษาโรค
ด้วยเหตุนี้ ความช่วยเหลือจากนานาชาติจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในดินแดนภายใต้การยึดครอง ระยะเวลาของการปกครองตนเองที่มีการวางกรอบเอาไว้ใน “แถลงการณ์แห่งหลักการ” เมื่อวันที่ 13 กันยายน 1993 จะต้องยุติลงในวันที่ 4 พฤษภาคม 1999 แต่ในวันถัดมา จากการที่ประธานาธิบดี บิล คลินตัน เขียนจดหมายถึง ยัซเซอร์ อารอฟัต เพื่อขอร้องให้ทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้การเจรจาว่าด้วยเรื่องสถานะขั้นสุดท้ายของเวสต์แบงค์และกาซ่าจะได้รับการแก้ปัญหาภายใน 1 ปี ด้วยเหตุนี้สภาผู้บริหารของ PLO จึงยอมที่จะเลื่อนการประกาศรัฐเอกราชปาเลสไตน์ออกไป
อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวของการประชุมสุดยอดที่แคมป์เดวิดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2000 (ซึ่งเป็นการประชุมที่อารอฟัตถูกกดดันให้ต้องลงนามข้อตกลงใหม่ในลักษณะที่ฝ่ายปาเลสไตน์เสียเปรียบเป็นอย่างมาก เปรียบได้กับข้อตกลงแห่งศตวรรษที่ทรัมป์กำลังเสนออยู่ในขณะนี้) ตลอดจนเหตุการณ์การลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ครั้งที่ 2 (second Intifadah) ในเดือนกันยายน ทำให้อิสราเอลกลับไปยึดครองดินแดนเวสต์แบงค์ไว้เกือบทั้งหมดอีกครั้ง
กองทัพอิสราเอลได้โจมตีเป้าหมายและทำลายสัญลักษณ์ทุกอย่างที่อิสราเอลเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองตนเองของคณะปกครองปาเลสไตน์ อาทิเช่น สำนักงานใหญ่ของ ยัซเซอร์ อารอฟัต สถานีโทรทัศน์-วิทยุ โรงเรียน ถนนหนทาง แหล่งจ่ายไฟฟ้า ลานบินในสนามบินกาซ่า ท่าเรือในกาซ่า ฯลฯ
การปิดล้อมและยึดครองเมืองต่าง ๆ ของปาเลสไตน์ครั้งแล้วครั้งเล่า การทำลายโครงสร้างพื้นฐาน และที่ดินทำเกษตรกรรม ยังผลให้เศรษฐกิจของกาซ่าและเวสต์แบงค์ย่ำแย่ลง และทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนได้รับความลำบากยากเข็ญมากขึ้น
การกลับเข้ามายึดครองของอิสราเอลในกาซ่าและเวสต์แบงค์อีกครั้งเป็นเสมือนสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการสันติภาพที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ได้ล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า นับจากนั้นเป็นต้นมา แม้จะมีการริเริ่มแผนสันติภาพอีกหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ เพราะแผนสันติภาพทุกครั้งล้วนเป็นแผนที่ยัดเหยียดความสูญเสียให้ชาวปาเลสไตน์เจ้าของดินแดนที่พวกเขาอาศัยอยู่มายาวนานหลายพันปี รวมถึงข้อตกลงแห่งศตวรรษที่ทรัมป์ได้นำเสนอล่าสุดนี้ด้วย